xs
xsm
sm
md
lg

สพศท.โว มติบุคลากรการแพทย์-สาธารณสุข ยันไม่เอา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพศท.โว มติบุคลากรการแพทย์-สาธารณสุข ยันไม่เอา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ เสนอแก้ ม.4 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แจงกรณีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนชดเชยนั้น ส่งผลให้ รพ.ต้องเก็บค่ารักษาเพิ่มขึ้น

วันนี้ (1 มี.ค.) นพ.เพิ่มบุญ จิรยศบุญยศักดิ์ กรรมการสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า วันนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย แพทยสภา กรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภา, กรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และสภาการพยาบาล ร่วมเข้าประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ.....ที่ รพ.สงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมหลากหลายวิชาชีพและประชาชนทั่วไปประมาณ 200 คน โดย สพศท.ได้มีการให้ความรู้รายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้ และมีมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเนื้อหายังไม่เหมาะสมกับการใช้ในประเทศไทย เนื่องจากจำนวนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข และอุปกรณ์ต่างๆ ยังมีความขาดแคลน ทำให้มีภาระงานล้นมือ เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอยู่แล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหากดดันผู้ให้บริการรักษาผู้ป่วย ผลที่ตามมาไม่สามารถควบคุมความกังวลของแพทย์และพยาบาลได้ จนเกิดการลังเลในการรักษาผู้ป่วยหรือหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการส่งต่อไปรักษาที่อื่น มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยตายหรือพิการเพิ่มขึ้น จากการออกกฎหมายลักษณะนี้มาใช้ ความกังวลของแพทย์ทำให้การตรวจรักษาใช้เวลานานขึ้น ประชาชนจะได้รับบริการที่ล่าช้า ไม่ได้รับความสะดวก

“นอกจากนี้ การเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนชดเชย จะมีผลทำให้เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น เป็นภาระกับประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อไปช่วยประชาชนส่วนน้อยที่ได้รับความเสียหาย ผู้ร่วมประชุม เห็นว่า ไม่คุ้มค่า และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาที่เปิดช่องแสวงหาผลประโยชน์ของคณะกรรมการ โดยเงินสมทบกองทุนพอกพูนตลอด เพราะไม่ต้องส่งคืนคลัง แต่เอื้อให้คณะกรรมการหาประโยชน์ เพราะอนุญาตให้ใช้เงินกองทุนได้ร้อยละ 10 ดังนั้น เงินกองทุนยิ่งโต คณะกรรมการก็มีโอกาสใช้เงินมากขึ้นตาม ซึ่งไม่น่าไว้วางใจ” นพ.เพิ่มบุญ กล่าว

นพ.เพิ่มบุญ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดมีมติ เห็นด้วยว่า หนทางช่วยเหลือผู้เสียหายที่ง่ายที่สุด คือ การแก้ไขกฎหมาย พรบ.หลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ และไปแก้กฎระเบียบการใช้เงินในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้มีวงเงินสูงขึ้น ซึ่งคาดว่า เปลี่ยนจาก 200,000 บาท เป็น 1-2 ล้านบาท ซึ่งเงินในมาตรา 41 มีเพียงพออย่างแน่นอน น่าจะมีความเหมาะสมกว่าและคุ้มครองได้ทันที ถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น