xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาต้าน พ.ร.บ.คุ้มครองฯ แนะแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “แพทยสภา” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทาง ก่อนมีมติร่วมกันไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แนะหนทางช่วยเหลือผู้เสียหายที่ง่ายที่สุดคือ การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ และไปแก้กฎระเบียบการใช้เงินในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพให้มีวงเงินสูงขึ้น

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลสงขลา แพทยสภาร่วมกับกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กรรมมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และสภาการพยาบาล จัดประชุมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข มีผู้เข้าร่วมประชุมหลากหลายวิชาชีพและประชาชนกว่า 200 คน โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสียถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

นายแพทย์เพิ่มบุญ จิรยศบุญยศักดิ์ กรรมการแพทยสภา เปิดเผยผลการประชุมประชาพิจารณ์ว่า ได้มีการสรุปมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเนื้อหายังไม่เหมาะสมต่อการใช้ในประเทศไทย เนื่องจากจำนวนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข และอุปกรณ์ต่างๆ ยังมีความขาดแคลน ทำให้มีภาระงานล้นมือ เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอยู่แล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหากดดันผู้ให้บริการรักษาผู้ป่วย ผลที่ตามมาไม่สามารถควบคุมความกังวลของแพทย์และพยาบาลได้ จนเกิดการลังเลในการรักษาผู้ป่วยหรือหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการส่งต่อไปรักษาที่อื่น มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยตายหรือพิการเพิ่มขึ้นจากการออกกฎหมายลักษณะนี้มาใช้ ความกังวลของแพทย์ทำให้การตรวจรักษาใช้เวลานานขึ้น ประชาชนจะได้รับบริการที่ล่าช้า ไม่ได้รับความสะดวก

นอกจากนี้ การเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนชดเชยจะมีผลทำให้เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น เป็นภาระกับประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อไปช่วยประชาชนส่วนน้อยที่ได้รับความเสียหาย ผู้ร่วมประชุมเห็นว่าไม่คุ้มค่า และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาที่เปิดช่องแสวงหาผลประโยชน์ของคณะกรรมการ โดยเงินสมทบกองทุนพอกพูนตลอด เพราะไม่ต้องส่งคืนคลัง แต่เอื้อให้คณะกรรมการหาประโยชน์เพราะอนุญาตให้ใช้เงินกองทุนได้ร้อยละ 1 ดังนั้น เงินกองทุนยิ่งเพิ่มขึ้น คณะกรรมการก็มีโอกาสใช้เงินมากขึ้นตามซึ่งไม่น่าไว้วางใจ

ทั้งนี้ ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดมีมติเห็นด้วยว่าหนทางช่วยเหลือผู้เสียหายที่ง่ายที่สุดคือ การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ และไปแก้กฎระเบียบการใช้เงินในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพให้มีวงเงินสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าเปลี่ยนจาก 200,000 บาท เป็น 1-2 ล้านบาท ซึ่งเงินในมาตรา 41 มีเพียงพออย่างแน่นอน น่าจะมีความเหมาะสมกว่าและคุ้มครองได้ทันทีถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น