xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งเชือด “ซุ้มยาดอง” เกลื่อนเมือง พบดัดแปลงสูตรเพี้ยน คนดื่มเสี่ยงอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.สั่งเชือดซุ้มยาดองเหล้าสมุนไพร พบตั้งขายเกลื่อนเมือง ชี้ ผู้ขายไร้ความรู้สมุนไพร ดัดแปลงสูตร ใช้วิธีการชงเหล้าขาวกับสมุนไพรบดผง เหมือนชงกาแฟ เสี่ยงเกิดผลเสียต่อสุขภาพ มอมเมาประชาชนดื่มอย่างพร่ำเพรื่อ เตรียมประสานตำรวจเอาผิดฐานผู้ขายสมุนไพรแปรรูป ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ พ่วงโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ฯ

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีร้านขายยาดองเหล้าทำในลักษณะซุ้มยาดองมากขึ้น มีขายทั่วไปทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ประชาชนโดยเฉพาะวัยรุ่นหันมานิยมร้านประเภทนี้กันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้คนที่กินยาดองเหล้ามักเป็นคนชนบท ผู้ใช้แรงงาน จิบเพื่อเป็นกษัย แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอวจากการทำงานหนัก บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ช่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับดี ยาดองเหล้าบางตำรับยังช่วยบำรุงโลหิตหญิงหลังคลอดที่อยู่ไฟไม่ได้ บางตำรับสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต โรคเหน็บชา นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่ายาดองเหล้าบางตำรับเป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ จึงเป็นที่นิยมของผู้ชาย

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าห่วงพบว่าตามซุ้มยาดองเหล้า ผู้ขายมักเป็นหญิงสาว ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่จะสามารถให้คำแนะนำผู้ดื่มได้อย่างถูกต้อง ประการสำคัญในยาดองเหล้าที่ขายในซุ้มจะมี 2 ชนิด คือยาดองเหล้าที่มีส่วนของสมุนไพรแช่อยู่แล้ว และมีสมุนไพรชนิดบดใส่ในขวดแก้ว แล้วติดชื่อสมุนไพร ชนิดหลังนี้จะชงกินพร้อมเหล้าขาวคล้ายกับการกินกาแฟ โดยจะใส่เหล้าขาวลงไปก่อนและใส่สมุนไพรบดตามลงไปแล้วชง บางแห่งอาจใช้สารอื่นปรุงรสเหล้าด้วย จากนั้นจะให้ดื่มเลย ซึ่งเป็นการนำสมุนไพรมาใช้ผิดวิธี ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเหล้ายาดอง กินกันอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งดำเนินการแก้ไขความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ขายยาดองเหล้าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และมีใบประกอบโรคศิลปะ เนื่องจากยาดองเหล้าจะเป็นสมุนไพรที่แปรรูป ถือเป็นตำรับยาชนิดหนึ่ง ผู้ที่ปรุงยาชนิดนี้ จึงต้องมีความรู้ตามกฎหมายการประกอบโรคศิลปะ

“ขณะเดียวกัน จะสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ประสานกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้กวดขันตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คือการห้ามขายเหล้าผิดเวลา ผู้ขายต้องมีใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต และห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี” รมช.สธ.กล่าว

ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ยาดองเหล้า เป็นวิธีการปรุงยาวิธีหนึ่งที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ สมุนไพรที่นิยมนำมาดองเหล้า ได้แก่ ม้ากระทืบโรง แส้มาทะลายโรง กำลังเสือโคร่ง ฝาง ฮ่อสะพายควาย โด่ไม่รู้ล้ม ขี้เหล็ก เป็นต้น ส่วนที่นิยมใช้ทำยาดองเหล้าได้แก่ราก ลำต้น เถา หรือแก่น โดยนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆให้เพียงพอตามปริมาณที่ระบุไว้ในแต่ละตำรับ แล้วนำไปห่อด้วยผ้าขาวบางใส่ในขวดโหล และใส่เหล้าลงไปให้ท่วมยาหรือตามอัตราส่วนที่กำหนดในสูตรยาแต่ละตำรับ ซึ่งเหล้าจะเป็นตัวทำละลายดึงเอาตัวยาออกมาจากสมุนไพร และยังช่วยถนอมรักษายาไม่ให้บูดเน่าด้วย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ยาดองเหล้าเกือบทุกตำรับจะมีสรรพคุณเกี่ยวกับการบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว เนื่องจากการทำงานหนัก ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ช่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับดี ในการกินนั้น ตามหลักการทางการแพทย์แผนโบราณ กินวันละไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ถ้วยตะไลเล็กๆ หรือขนาด 30 ซีซี ก่อนอาหารเช้าและเย็นเท่านั้น ทั้งนี้ สมุนไพรที่นำมาใช้ดองเหล้ามีกว่า 300 ชนิด เช่น ที่ภาคเหนือ จากงานศึกษาวิจัย ของสำนักวิชาการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงปี 2540 ได้มีการรวบรวมสูตรยาดองเหล้าใน 17 อำเภอใน 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน และ สุโขทัย มีทั้งหมด 91 สูตร พบพืชสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ 242 ชนิด ส่วนใหญ่ใช้ราก แก่น และผลตากแห้งมาปรุง สมุนไพรที่นิยม เช่น ฝางใช้ขับเสมหะ บำรุงเลือด กำลังเสือโคร่งใช้บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย รางแดงเป็นยาเจริญอาหารและยาอายุวัฒนะ ฮ่อสะพายควายใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย กำลังช้างเผือกมีสรรพคุณบำรุงกำหนัด เป็นยาอายุวัฒนะ โด่ไม่รู้ล้มสรรพคุณแก้เหน็บชา บำรุงกำหนัด เป็นยาบำรุงหลังคลอด เป็นต้น

“ไม่ควรกินยาดองเหล้าในปริมาณที่มากเกินไป ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำดูแลของแพทย์แผนโบราณหรือผู้มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ผู้ที่ห้ามดื่มยาดองเหล้าได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอาการแพ้เหล้า เนื่องจากยาดองเหล้าเป็นยารสร้อนหรือรสเผ็ดร้อน แอลกอฮอล์ในเหล้าจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวอาจทำให้แตกได้” นพ.ปราโมทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น