xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ยัน 1 พ.ค.เริ่มเปิดรับแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯ เผย 1 พ.ค.นี้ เริ่มเปิดรับประกันสังคมแรงงานนอกระบบ คาด ปี 2559 ต้องการเห็นสวัสดิการที่สมบูรณ์ ด้านกลุ่มแรงงาน ชี้ แรงงานสนใจเข้า ปกส.แบบที่ 1 มากกว่า เพราะเข้า กอช.ได้ด้วย แนะ สปส.ควรเร่งให้ข้อมูล ปชช.

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่สโมสรทหารบก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมสัมมนา “ปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ ประกันสังคมไทยเข้มแข็ง” ในการสร้างระบบคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ โดยมี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เช่น คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนพิการ ชาวนา ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เข้าร่วมกว่า 2,000 คน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ หากคนเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันก็จะกลายเป็นปัญหาและเกิดความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งขึ้นได้ในอนาคต และทางเลือกที่รัฐบาลต้องทำคือประชาชนต้องมีกำลังจ่ายเงินสมทบ โดยรัฐบาลก็ร่วมจ่ายด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจ ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ต้องดีพอสมควร และต้องไม่ไปปิดโอกาสในหลักประกันอื่น ซึ่งในที่สุดจึงได้เสนอทางเลือก 2 ประการ คือ 1.ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลจ่าย 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 ประการ คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต 2.ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบ 50 บาท ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ 3 ประการเช่นกัน แต่เพิ่มบำเหน็จกรณีชราภาพอีกด้วย

เราตั้งใจว่าจะดำเนินการให้ทันในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ แต่ก่อนถึงวันนั้นเราต้องทำงานหนักกันต่อไป ผมได้เรียกประชุมทุกๆ 2 สัปดาห์เพื่อขอทราบความคืบหน้า รัฐบาลได้ประกาศไปแล้วว่า ต้องการเห็นระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์เกิดขึ้นภายในปี 2559 แต่การสร้างหลักประกันตรงนี้ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญมาก ถ้าเราทำสำเร็จ นอกจากช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังเป็นการวางรากฐานในอนาคตด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า อยากให้ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลกับแรงงานนอกระบบให้มากกว่านี้ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูล และไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรา 40 ที่ออกมาใหม่ตามแผนนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลนี้ ทำให้ตัดสินใจลำบาก

นางสุจิน กล่าวด้วยว่า แรงงานนอกระบบสนใจสิทธิประโยชน์แบบที่ 1 มากกว่า เพราะนอกจากจะได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ กรณีเจ็บป่วย ยังสามารถเข้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ ส่วนแบบที่ 2 มีแรงงานสนใจน้อยกว่า เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องบำเหน็จชราภาพแล้ว ไม่สามารถเข้ากองทุนเงินออมได้ ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น ทั้ง 2 ตัวเลือกสามารถใช้บัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ซึ่งแรงานส่วนใหญ่มีอยู่เดิมแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงเรื่องระบบการจัดเก็บเงินของทั้ง 2 กองทุน ว่า ควรจะมีการบริหารจัดการให้ความสะดวกกับผู้ประกันตนที่อยู่ห่างไกลที่ควรจัดเก็บในจุดเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น