พะเยา - สปส.พะเยาเร่งแจงสิทธิ ตามนโยบาย รบ.ในการขยายผลเครือข่าย ประกันสังคมมาตร 40 ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ จังหวัดตั้งเป้าให้มีผู้สมัครเป็นผู้ประกันตน 26,000 คน หรือร้อยละ 10 ของแรงงานนอกระบบในจังหวัด
วันนี้ (23 ก.พ.) ที่ห้องประชุมโรงแรมภูทองเพลส อ.เมือง จ.พะเยา สำนักงานประกันสังคม จ.พะเยา ได้เชิญตัวแทนกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสหกรณ์การเกษตร, กลุ่มโอทอป, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, อาสาสมัครแรงงาน รวมไปถึง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.กว่า 100 คน เข้าประชุมเพื่อชี้แจงการขยายผลเครือข่ายประกันสังคมมาตรา 40 ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานอีกกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศ ได้รับความคุ้มครองจากระบบสวัสดิการของรัฐบาล โดยมีนายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนปฏิบัติการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบของสำนักงานประกันสังคม อีกทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับสมัคร การจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนเงื่อนไขการให้ความคุ้มครอง สามารถนำไปใช้ชี้แจงขยายผล และเชิญชวนให้สมาชิกในกลุ่ม ตลอดจนประชาชนทั่วไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้มากที่สุด
โดยมีการบรรยายสรุปความเป็นมาของการขยายความคุ้มครองประกันสังคมเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ตามนโยบายของรัฐบาล การตั้งโจทก์คำถาม-ตอบปัญหาเพื่อทดสอบความเข้าใจ และการประชุมกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น ระดมสมองเสนอแนะแนวทางวิธีการสร้างเครือข่าย และการประชาสัมพันธ์ให้มีผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งนี้จะมีการสรุปผลเสนอต่อจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมทราบต่อไป
สำหรับนโยบายการขยายผลเครือข่ายประกันสังคมมาตรา 40 โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 ที่ให้ประชาชนมีสิทธิประโยชน์เป็น 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท (ปชช.จ่าย 70 บาท รัฐอุดหนุน 30 บาท)ได้รับสิทธิ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้ กรณีเจ็บป่วย , ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ส่วนทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท (ปชช.จ่าย 100 บาท รัฐ อุดหนุน 50 บาท) ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จชราภาพอีก 1 กรณี
โดยจังหวัดพะเยาตั้งเป้าให้มีผู้สมัครเป็นผู้ประกันตน จำนวน 26,000 คน หรือร้อยละ 10 ของแรงงานนอกระบบในจังหวัด