ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ บุก กมธ.แรงงาน ร้อง กม.ประกันสังคม จี้ให้ถอนการพิจารณารณีขยายสิทธิครอบคลุมคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน เหตุขัด รธน.มาตรา 51
วานนี้ (17 ก.พ.) น.ส.ณัฐกานต์ กิจประสงค์ ผู้ประสานงานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวภายหลังเดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ว่า ชมรม และเครือข่ายได้ยื่นหนังสือขอให้ปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม เพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกันตน โดยเฉพาะในประเด็นการบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นระบบเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบ แต่สิทธิประโยชน์ด้านนี้กลับไม่เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรรักษาฟรี เลย โดยข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายประกันสังคม คือ ต้องการให้มีการดำเนินการตามมาตรา 21 โดยให้ยกเลิกความในมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 แต่ให้ปรับแก้โดยในส่วนของการรักษาพยาบาลให้เป็นสิทธิของบัตรรักษาฟรีดูแล หรือจะร่วมกันจัดตั้งกองทุนใหม่ที่มีการพัฒนาร่วม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
น.ส.ณัฐกานต์ กล่าวอีกว่า ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังคงมีอยู่ เนื่องจากชมรมไม่ได้ต้องการให้ผู้ประกันตนออกจากระบบประกันสังคมทั้งหมด เพียงแต่ต้องการให้การบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลเป็นไปในระบบเดียว ไม่ใช่แยกเป็นระบบต่างๆ ที่มีสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในประเด็นมาตรา 40 ที่มีการแก้ไขขยายสิทธิประกันสังคมครอบคลุมคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนประมาณ 5.88 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องถ่ายโอนมาจากระบบบัตรรักษาฟรีนั้น ขณะนี้มีการพิจารณาในขั้นคณะกรรมาธิการสภาแล้ว โดยผ่านวาระแรกเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้ชมรมเรียกร้องให้มีการพิจารณาถอดถอนแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเสีย เนื่องจากถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งเรื่องนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรา 51 ที่ระบุชัดว่าประชาชนมีสิทธิได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม และยังขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในมาตรา 9 และ 10 ที่ระบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ควรมีการขยายสิทธิด้านการบริการสาธารณสุขไปยังระบบอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังไม่พร้อมในการขยายสิทธิตาม พ.ร.บ.บัญญัติ แต่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่ควรโอนสิทธิพื้นฐานที่มีอยู่แล้วไปยังสิทธิอื่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ส่วนจากนี้ไปคณะกรรมาธิการการแรงงาน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี จะมีท่าทีอย่างไรคงต้องติดตาม
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเด็นการขยายสิทธิประกันสังคมครอบคลุมไปยังคู่สมรสและบุตรนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่ควรดำเนินการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะใช้วิธีคำนวณอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เนื่องจาก สปสช.ได้คำนวณตามการเจ็บป่วยของกลุ่มอายุต่างๆ พบว่า คู่สมรสและบุตรผู้ประกันตนจะเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้สูงอายุ การคำนวณอัตราการรักษาก็จะแตกต่างกัน หากมีการโอนไปย่อมได้รับผลกระทบในระบบไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากจะโอนไปก็ควรมีการศึกษา หรือต้องคำนวณอัตราค่าเหมาจ่ายตามหลักการของสปสช.จะเหมาะกว่า