“เฉลิมชัย” ยันจุดแข็ง สปส.ไม่ได้มีแต่คุณภาพการรักษา ยังมีเงินทดแทนพิการ-ตาย-เลี้ยงดูบุตร-ชราภาพ-ว่างงาน เร่งเพิ่มสิทธิรักษาได้ทุก รพ.ของรัฐ เล็งเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเลือกระบบสุขภาพสังกัดประกันสังคมหรือบัตรทอง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีการเปรียบเทียบระบบการให้บริการทางการแพทย์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า แต่ละระบบมีเจตนาและวัตถุประสงค์ในการดูแลคนในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ประกันสังคม เป็นหน่วยงานแรกที่ดูแลในเรื่องเจ็บป่วยที่ใช้หลักประกัน ซึ่งผู้ได้สิทธิจะต้องจ่ายเงิน แต่สิ่งที่พิเศษแตกต่างจากประกันทั่วไป คือ ประกันสังคม ใช้ระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ที่กำหนดเงินสมทบตามอัตราส่วนตามเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน โดยจะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและบริการที่เป็นมาตรฐาน มีการประเมิน และตรวจสอบคุณภาพ
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า การดูแลสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับคนทำงาน ไม่เฉพาะด้านรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วย แต่ผู้ประกันตนยังได้การดูแลในเรื่องอื่น อาทิ เงินทดแทนเนื่องจากทุพพลภาพ ตาย และเงินที่จ่ายให้เพื่อช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร ที่เป็นเงินสงเคราะห์บุตร และชราภาพ รวมทั้งประกันการว่างงาน เมื่อต้องออกจากงาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของประกันสังคม ที่ประกันสังคมพยายามทำให้เกิดความสมบูรณ์
“ประกันสังคมพยายามที่จะพัฒนา เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร คลอดบุตร และพัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้ประกันตนให้ดีขึ้นเรื่อยมา”นายเฉลิมชัย กล่าวและว่า ตนได้หารือกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ที่จะทำงานร่วมกันในการให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในทุกโรงพยาบาลของรัฐได้ นอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกที่ระบุตามบัตร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงการให้บริการรักษาโรคร้ายแรงที่จะมีเงินพิเศษสนับสนุนให้กับโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ประกันตน เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาการส่งต่อ บ่ายเบี่ยงการรักษา ที่จะพยายามให้มีความชัดเจนใน เม.ย.นี้
นายเฉลิมชัย กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตถึงระบบสุขภาพที่มีความเหลื่อมล้ำ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงิน ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่ต้องจ่ายเงิน ว่า เรื่องนี้ตนอยากที่จะเปิดกว้างให้ผู้ประกันตนมีสิทธิตัดสินใจในการเลือกระบบการรักษา ที่หากใครเห็นว่าระบบใดดีกับตนเองก็เลือกระบบนั้นๆ ที่คนทำงานสามารถที่จะเลือกรับบริการรักษาในระบบ สปสช.ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคุยกันยาว ที่รัฐบาลต้องดูภาพรวมในเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านงบประมาณที่หากผู้ประกันตน ใช้สิทธิ สปสช.ที่จะมีคนเข้าสู่ระบบ สปสช.เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นเรื่องใหญ่ต้องตัดสินใจคำนึงถึงอย่างรอบด้าน และต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ใช่การตัดสินใจของกระทรวงแรงงานเท่านั้น”นายเฉลิมชัยกล่าวและว่ารัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมในส่วนของรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตน 800 บาทต่อคนต่อปี และจ่ายให้กับระบบ สปสช.ประมาณ 2,400 บาทต่อคนต่อปี จึงมีส่วนต่างประมาณ 1500 บาทต่อคนต่อปี ถือเป็นค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากทีเดียว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 ขั้นแปรญัตติ ซึ่งหากในเรื่องนี้มีความชัดเจนโดยเร็ว ก็น่าที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขกฎหมายพร้อมกันไป แต่ไม่แน่ใจนักว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นนี้อยู่ในหลักการนำเสนอแก้ไขกฎหมายต่อรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง และจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ประกันตนแล้วก็น่าที่จะลองทำงานกันอย่างจริงจัง