โฆษก สปสช.เผย ผู้ป่วยไตวายย้ายสิทธิใช้บริการมากขึ้น ระบุ มีหน่วยบริการเอกชนโดดเข้าร่วมโครงการให้บริการผู้ป่วยในโครงการ 264 แห่ง ด้านประธานชมรมเพื่อนโรคไตฯ ลั่นถ้าหายป่วยจะพาผู้ป่วยไปลาออกจากประกันสังคมทันที หากยังไม่แก้ไขให้คนป่วยมีสิทธิเท่าเทียมบัตรทอง
จากกรณีผลการศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับประกันสังคม พบว่า ผู้ป่วยประกันสังคมต้องสมทบค่าเหมาจ่ายรายปี แต่ได้สิทธิน้อยกว่าผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และมีความเข้าใจผิดว่าระบบบัตรทองไม่มี รพ.เอกชนเข้าร่วมโครงการ ทั้งที่จริงแล้วมีหน่วยบริการเอกชนเข้าร่วมถึง 264 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ลูกจ้างประกันสังคมโวย เปลี่ยนไตก่อนเข้าสิทธิประกันสังคม ต้องรับภาระจ่ายยากดภูมิต้านทานเดือนละหลายหมื่นบาท จะรับยาฟรีจากระบบบัตรทองต้องลาออกจากงานก่อน ชมรมผู้ป่วยไตวาย เผย ประกันสังคมซื้อยาแพงและผู้ป่วยถูกเก็บเงินเพิ่ม
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวที่ว่า ผู้ป่วย สปสช.ไม่สามารถไปใช้บริการ รพ.เอกชน ได้ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนความจริง ปัจจุบันมีหน่วยบริการเอกชนเข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ถึง 264 แห่ง เป็น รพ.ขนาดใหญ่ ที่รับส่งต่อ 84 แห่ง และผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถที่จะเปลี่ยนหน่วยบริการได้ถึงปีละ 2 ครั้ง โดย สปสช.เน้นให้เลือกหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานเป็นหลัก
โฆษก สปสช.กล่าวต่อว่า จากการที่มีการขยายการให้บริการผู้ป่วยมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยหนักที่เป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทำให้ขณะนี้ สปสช.รับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากผู้ป่วยไตวายเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว สาเหตุหนึ่ง คือ มีที่ผู้ป่วยไตวายขอย้ายสิทธิเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้นผิดปกติ บางรายยอมลาออกจากงาน เพราะระบบประกันสังคมยังไม่ได้ให้สิทธิผู้ป่วยไตวายในบางกรณี เท่าเทียมกับบัตรทอง เช่น การรับยากดภูมิต้านทานในกรณีเป็นไตวายก่อนเข้าประกันสังคมหรือผู้ป่วยต้องรับภาระจ่ายค่ายากระตุ้นเม็ดเลือดแดงในส่วนเกินที่โรงพยาบาลเรียกเก็บจากประกันสังคม ต่างกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่พยายามลดต้นทุนค่ายา และไม่อนุญาตให้มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย
“ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศต้องเน้นพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียม และช่วยกันพัฒนาคุณภาพการบริการต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ทำได้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบริการที่จำเป็นของผู้ป่วยให้มากขึ้น” นพ.ปรีดา กล่าว
ขณะที่นายสุบิน นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยขณะเข้ารับรักษาตัวที่ รพ.นพรัตน์ราชธานี ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบประกันสังคม เดือดร้อนหนักเพราะระบบประกันสังคมมีขั้นตอนการที่จะให้สิทธิทดแทนไตต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นเวลานาน และขณะนี้ผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการปลุกถ่ายไตก่อนเข้าระบบประกันสังคม ต้องรับภาระจ่ายค่ายากดภูมิต้านทานเดือนละ 2-3 หมื่นบาททุกเดือนด้วยตัวเอง จนกว่าจะเสียชีวิต หรือลาออกจากงานเพื่อเข้าระบบบัตรทองซึ่งขยายสิทธิให้ยากดภูมิต้านใช้ฟรีตลอดชีวิต
“มีป่วยบางคนจบวิศวะ มีงานทำ เป็นลูกจ้างต้องแบกรับภาระค่ายากดภูมิต้านทานเองทุกเดือนเพราะประกันสังคมไม่ได้ให้สิทธิ เพราะเปลี่ยนไตก่อนจบวิศวะ จะขอรับสิทธิบัตรทองไม่ได้ ต้องลาออกจากงานก่อน ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว” ประธานชมรมเพื่อนโรคไตฯ กล่าว
นายสุบิน กล่าวอีกว่า ระบบประกันสังคมต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพ เอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หรือให้ผู้ป่วยมีอิสระในการเลือกไม่จ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล ใช้สิทธิบัตรทองแทน อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารของประกันสังคมสุดอืด จ่ายค่ายากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดเลือดแดง ซึ่งเป็นยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ ประกันสังคมจ่ายค่ายาให้โรงพยาบาลต่างๆแพงกว่าที่ สปสช. จัดซื้อหลายเท่าตัว เช่น ยา ยี่ห้อ Eprex หรือ Erypo บริษัทขายให้ สปสช.ตกเข็มละ 370 บาท แต่ประกันสังคมกำหนดราคากลางอยู่ที่ 1,450 บาท ผู้ป่วยเบิกได้ 750 บาท ที่เหลือต้องจ่ายเพิ่มเติม หรือยายี้ห้อ Eporon ขายให้ สปสช.เข็มละ 210 บาท แต่ประกันสังคมต้องจ่าย 650 บาท ดังนั้น มีผู้ป่วยประกันสังคมต้องจ่ายค่ายากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงสูงกว่า สปสช.กว่า 200 ล้านบาทต่อปี และผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาเพิ่มมากกว่าปีละ 50 ล้านบาท
“ถ้าผมหายป่วยออกจากโรงพยาบาลได้ผมจะพาผู้ป่วยไปขอลาออกจากประกันสังคมทันที ถ้าประกันสังคมไม่แก้ไขให้ผู้ป่วยมีสิทธิเท่าเทียมบัตรทอง”นายสุบิน กล่าว