“ดร.เฉลิมพล” นำเครือข่าย “พลังราม” พร้อมทีมกฎหมายสู้ยิบตา! จี้ สกอ.พิจารณายกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการของ 3 ผู้บริหาร ม.รามคำแหง คำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายประเด็น พร้อมย้ำชัด กรณีขยายอายุราชการ “รังสรรค์” ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน
วันนี้ (15 ก.พ. ) เวลา 13.00 น. ดร.เฉลิมพล สุมโนพรหม ในฐานะประธานคณะผู้ทำงานทางด้านกฎหมายของกลุ่มพลังรามได้เดินทางมาที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อเข้าพบ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ.และดำเนินการยื่นคำแถลงการณ์ร้องขอความเป็นธรรม ให้ สกอ.พิจารณายกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 โดยกล่าวว่า การเดินทางมาของตัวแทนฝ่ายกฎหมายของกลุ่มเครือข่ายพลังในวันนี้ เพื่อต้องการเสนอความคิดเห็นในแง่มุมของกฎหมาย ว่า การออกคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายประเด็น
ดร.เฉลิมพล กล่าวอีกว่า ในกรณีการออกคำสั่งลงโทษไล่ออกอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รศ.คิม ไชยแสนสุข, รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ นั้น หาก สกอ. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ละเอียดรอบคอบ จะพบว่า การรายงานไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง สกอ.มีอำนาจที่จะดำเนินการไม่ออกคำสั่งลงโทษไล่ออกได้ หากเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่มีผู้เสียหาย
“ทางเครือข่ายพลังราม มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ขั้นตอนการพิจารณาของ สกอ.น่าจะยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาแรกที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ ทาง สกอ.ไม่ได้พิจารณาในเรื่องคำวินิจฉัย สั่งการ หรือ คำไต่สวนว่าคนที่ร้องมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น เขามีอำนาจร้องเข้ามาในคดีนี้หรือไม่ เขาเป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จริงหรือไม่ คนที่ร้องมานั้นเป็นผู้เสียหายจริงหรือไม่ เราพิจารณาแล้วว่า ในคดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ใช่ผู้เสียหายอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนคำร้องและไม่มีอำนาจลงมติชี้มูลความผิดในคดีนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น” ดร.เฉลิมพล กล่าว
ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อในประเด็นที่ 2 ว่า เรื่องของตำแหน่งอธิการบดีนั้น เป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ซึ่งในบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติว่าการพ้นจากตำแหน่งอธิการบดี จะต้องเป็นไปโดยอายุราชการแต่อย่างใด และไม่เกี่ยวข้องกับอายุราชการพลเรือน
“มันคนละประเด็นกัน การดำรงตำแหน่งอธิการบดี เป็การดำรงตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ตำแหน่งข้าราชการ ก็เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา มันใช้กฎหมายคนละฉบับกัน แต่ ป.ป.ช.ไม่ได้พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายนี้ จึงทำให้เห็นได้ว่าการไต่สวนครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตำแหน่งอธิการของ รศ.รังสรรค์ แสงสุขนั้น หมดวาระเมื่อ พ.ศ.2550 ฉะนั้น ตำแหน่งนี้ยังต้องคงอยู่ มันเป็นคนละตำแหน่งกับที่เขาขอขยายอายุราชการ ถ้า สกอ.ได้พิจาณาถึงเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งก็ดี เกี่ยวกับผู้เสียหายก็ดี ว่าในเรื่องนี้แม้ ป.ป.ช.จะชี้มูลมาว่ามีความผิด ถ้า สกอ.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงมองเห็นถึงในข้อกฎหมายว่ามันไม่ใช่ความผิด ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ลงโทษได้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า ถ้า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอะไรแล้วต้องลงโทษตามนั้น เรามาร้องขอความเป็นธรรมในจุดนี้” ดร.เฉลิมพล ชี้แจง
และ ประเด็นที่ 3 การออกคำสั่งของ สกอ.ที่จริงแล้ว ถ้าได้รับหนังสือชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.แล้วก็ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน ถ้าล่วงเลยระยะเวลาไปนั้น ยังอยู่ในอำนาจอีกหรือไม่ ถ้าไม่อยู่ในอำนาจ จะเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ น่าจะได้รับการพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
“การที่ผมมาร้องในวันนี้ ผมมาในนามของประธานคณะทำงานทางด้านกฎหมายกลุ่มเครือข่ายพลังราม ในทางปฏิบัติ ผู้บริหารทั้ง 3 คน จะต้องมาเป็นผู้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งนี้ด้วยตนเองอีกครั้งภายในกำหนดระยะเวลา แต่ในฐานะที่ผมมาวันนี้ ผมมาเพื่อต้องการให้ทางสกอ.ทบทวนคำสั่งใหม่เท่านั้นเอง ถ้าหากเห็นว่าความคิดเห็นของผมถูกต้อง เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ก็อาจได้รับความกรุณาจาก คณะกรรมการ กกอ.ก็ได้” ดร.เฉลิมพล ย้ำ
ด้าน ดร. สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวกับตัวแทนฝ่ายกฎหมาย เครือข่ายพลังราม ว่า ยินดีรับคำแถลงการณ์นี้ไว้พิจารณา โดยได้ดำเนินการรับทราบในคำแถลงการณ์นั้น ส่วนขั้นตอนต่อไปจะนำคำแถลงการณ์นี้ส่งให้ฝ่ายนิติกร เป็นผู้ทบทวนตัวบทกฎหมายให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง และแสดงความเห็นด้วยในประเด็นตัวบทกฎหมายที่ขัดแย้งอย่างชัดเจน
ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ไป ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า จะดำเนินการตามกฎหมาย คือ ให้มีการเพิกถอนคำสั่งลงโทษของ สกอ.ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ เพื่อดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อ สกอ.ภายใน 30 วัน หาก สกอ.มีผลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งก่อนเวลากำหนด ก็จะไม่มีการอุทธรณ์ แต่หากล่วงเลยไปจนครบ 30 วันแล้วยังไม่มีผลสรุปใดๆ ออกมา ก็จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์และส่งฟ้องศาลปกครองต่อไป ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายพลังราม จะใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียดรอบคอบที่สุด
“ที่มา สกอ.ในวันนี้ เพื่อที่จะมาย้ำอีกครั้ง ว่า อยากให้ สกอ.พิจารณาการออกคำสั่งอีกครั้งว่าเป็นไปตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายของเราเห็นว่าท่านยังไม่ได้วินิจฉัยมติของ ป.ป.ช.อย่างละเอียดรอบคอบ ท่านอาจจะละเลยข้อกฎหมายสำคัญบางประการไป ทางเราจะดำเนินการด้วยความสงบนิ่ง จะไม่มีการเดินขบวนประท้วง เราต้องต่อสู้อย่างสง่างามที่สุด เพราะใกล้วันที่จะรับพระราชทานปริญญาบัตร งานทุกอย่างในมหาวิทยาลัยต้องดำเนินต่อไป งานนี้จะต้องผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี” ดร.เฉลิมพล กล่าว พร้อมให้คำยืนยันว่า การขยายอายุราชการของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข นั้นดำเนินการถูกต้องตามข้อกฎหมายแน่นอน”ดร.เฉลิมพล กล่าว
ด้าน นายกิตติวัฒน์ สุทธิรักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มร.หนึ่งในตัวแทนนักศึกษากลุ่มเครือข่ายพลังราม กล่าวว่าเมื่อเวลา 11.00 น.ตนและเพื่อนกลุ่มเครือข่ายพลังราม พร้อมด้วยคณาจารย์ ประมาณ 300 คน ได้เดินทางไปที่ ป.ป.ช.เพื่อยื่นหนังสือและมอบกระเช้าดอกไม้ แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยมี นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับมอบ และรับปากจะช่วยนำหนังสือไปเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้พิจารณาการชี้มูลความผิดแก่ รศ.คิม รศ.รังสรรค์ และ รศ.เฉลิมพล ภายในวันนี้ (15 ก.พ.) แต่ในที่ประชุมจะหยิบยกประเด็นมาพิจารณาหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับการประธาน ป.ป.ช.อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ นักศึกษาในกลุ่มเครือข่ายพลังราม จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแก่อาจารย์ มร.ทั้ง 3 ท่าน ภายใต้วิธีการทางกฎหมาย จะไม่เรียกร้อง หรือดำเนินการอะไรที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย