รมช.สธ.เร่งผลักดันวิจัยสมุนไพรถอนพิษอีก 3 ตัว คือ ย่านางแดง ย่านาง มะขามป้อม เพื่อใช้หลังได้รับสารพิษอันตรายให้สำเร็จภายใน 4 ปี พร้อมทั้งทำแผนสำรวจรางจืดที่ปลูกใน 4 ภาค และศึกษาประสิทธิภาพทางยา ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ หวังให้เป็นพืชล้างพิษคู่ครัวเรือนไทย
วันนี้ (11 ก.พ.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานโครงการรณรงค์ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ครั้งที่ 4 ที่โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ พร้อมมอบโล่เกษตรกรดีเด่นใช้เกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำนวน 5 คน ในงานดังกล่าวได้แจกกล้ารางจืดจำนวน 500 ต้นด้วย
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรไทยซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 14 ล้านคน มีความเสี่ยงอันตรายจากการทำงาน เนื่องจากมีการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า สารเคมีดังกล่าวมีความเป็นพิษสูง สามารถเข้าสู่ร่างกายผู้ใช้ ทำให้เจ็บป่วย ล่าสุดในปี 2552 มีเกษตรกรป่วยจากพิษสารเคมีจำนวน 4,691 ราย เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในรอบ 10 ปี ในการดูแลสุขภาพเกษตรกรไทย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจัดโครงการตรวจหาสารพิษตกค้างในเกษตรกรไทย และนำสมุนไพรรางจืด ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น รางเย็น ดุเหว่า แอดแอ รางเย็น มาใช้ดื่มเพื่อขับสารพิษออกในรายที่มีสารพิษตกค้างในร่างกาย เนื่องจากมีผลการวิจัยยืนยันว่ามีฤทธิ์ในการลดและกำจัดพิษยาฆ่าแมลงออกจากร่างกายได้ ในปี 2554 นี้ ตั้งเป้าตรวจเกษตรกรไทย 840,000 คน โดยให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 840 แห่ง จะเริ่มบริการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป บริการฟรีทั้งหมด ผลการตรวจเลือดเกษตรกรช่วงรณรงค์ที่ จ.ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2553 เป็นต้นมา พบเกษตรกรมียากำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดร้อยละ 57-61
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า นอกจากรางจืดแล้ว ขณะนี้ได้ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาสมุนไพรอื่นที่จะนำมาใช้ล้างพิษในร่างกาย ที่เล็งไว้มี 3 ตัว ซึ่งมีการนำมาใช้ในการแพทย์พื้นบ้านในอดีต ได้แก่ 1.ย่านางแดง หรือเครือขยัน ใช้ถอนพิษ แก้พิษไข้ต่างๆ 2.ย่านางหรือจ้อยนาง ขันยอ ใช้ถอนพิษผิดสำแดง แก้พิษเบื่อเมาในอาหาร เช่น เห็ด กลอย และ 3.มะขามป้อม ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ยับยั้งการเจริญเติบโตแบคทีเรีย ผลการทดลองในหนู พบว่า มีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของสัตว์และคนได้ สามารถต้านมะเร็ง ไวรัส ลดการอักเสบ เพิ่มภูมิต้านทานในร่างกายได้ ซึ่งผลงานศึกษาวิจัยรองรับยังมีน้อย จะเร่งให้ดำเนินการสำเร็จภายใน 4 ปี หากสำเร็จจะทำให้คนไทยมีสมุนไพรถอนพิษที่อยู่ใกล้ตัว ใกล้บ้าน สามารถนำมาใช้ได้
รมช.สธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ทำการสำรวจการปลูกรางจืดในภาพรวมระดับประเทศ และศึกษาประสิทธิภาพตัวยาในรางจืดที่ปลูกในแต่ละภูมิภาคร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกรางจืด 1 ครัวเรือน 1 ต้น ซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 20 ล้านครัวเรือน สำหรับที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่เกษตรกรรม 4 ล้านกว่าไร่ เกษตรกร 232,583 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.ละหานทราย บ้านกรวด โนนดินแดง ผลการตรวจเลือดพบเกษตรกรมีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 26 และพบผู้ป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ปี 2549-2553 รวม 404 ราย