xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมผลิต “แคปซูลรางจืดเข้มข้น” สลายพิษเร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าตาของสมุนไพรถอนพิษ รางจืด (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
สธ.เตรียมให้องค์การเภสัชกรรม วิจัยและผลิตรางจืดชนิดแคปซูล ให้ทันสมัย กินง่าย ใช้รักษาเกษตรกรที่มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับไม่ปลอดภัย ซึ่งต้องใช้รางจืดในระดับที่มีความเข้มข้นสูงในการสลายพิษ คาด ดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือน พร้อมเร่งผลักดันขึ้นทะเบียนสมุนไพรรางจืดในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้อย่างกว้างขวางเหมือนยาอื่น และให้ อสม.1 ล้านคน ปลูกต้นรางจืดบ้านละ 1 ต้น

วันนี้ (26 ก.พ.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “เกษตรกรปลอดโรคผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จังหวัดสุโขทัย จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการเจาะเลือดเกษตรกร เพื่อตรวจสารพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกาย ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ขณะนี้โครงการเกษตรกรปลอดโรคผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เกิดความตื่นตัวในเรื่องของอันตรายและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย จากผลการเฝ้าระวังโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดของเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ ปทุมธานี บุรีรัมย์ ระยอง และ สุราษฎร์ธานี ในเดือนมกราคม 2554 พบเกษตรกรมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 51 ส่วนในผักสดผลไม้พบมีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเฉลี่ยเกือบร้อยละ 5 ส่วนการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลกในปี พ.ศ.2553 พบเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย มีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงที่สุดพบร้อยละ 64 รองลงมา คือ ตาก ร้อยละ 60 อุตรดิตถ์ ร้อยละ 54 พิษณุโลก ร้อยละ 50 เพชรบูรณ์ พบร้อยละ 42 จะเร่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกร ตรวจเลือดซ้ำและให้กินสมุนไพรรางจืดเพื่อขับพิษออก

อย่างไรก็ตาม ในการใช้รางจืดขับพิษออกจากร่างกายนั้น มีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบของตัวยาให้ทันสมัย และกินง่ายขึ้น โดยจะให้องค์การเภสัชกรรมวิจัยและผลิตรางจืดเป็นชนิดแคปซูล เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการสลายพิษได้รวดเร็วกว่าวิธีการกินแบบต้มใบสด และตากแห้งทำเป็นชาชงทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรรายที่มีสารพิษตกค้างในเลือดในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจะต้องกินรางจืดสลายพิษในปริมาณที่เข้มข้นมากกว่าปกติ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ และจะเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาให้รางจืดชนิดแค็ปซูล เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป เพื่อใช้ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ทดแทนยานำเข้าต่อไป

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรที่มี 14.1 ล้านคนทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกต้นรางจืดอย่างน้อยบ้านละ 1 ต้น ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ปลูกง่าย และในปีนี้จะให้ อสม.ที่มี 1 ล้านคนทั่วประเทศ ปลูกรางจืดคนละ 1 ต้นด้วย เพื่อให้เป็นบ้านตัวอย่างในชุมชน สำหรับใช้เองที่บ้านโดยกินใบสด หรือตากแห้ง เป็นชาชงรางจืด
กำลังโหลดความคิดเห็น