สธ.เผยพิษจากยากำจัดศัตรูพืช ทำเกษตรกรป่วยเฉัยดหมื่น เร่งค้นหามาตรการเกี่ยวกับการจดทะเบียนสารอันตราย พร้อมหนุนการใช้พืชสมุนไพรแทน
วันนี้ (27 ม.ค.)ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานโครงการรณรงค์ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2551 มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 8,919 คน เสียค่าใช้จ่ายรักษากว่า 47 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาปัญหาสุขภาพจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก พบว่า เกษตรกรเกือบทั้งหมด เคยมีอาการพิษที่เกิดจากสารเคมี และมีเกษตรกรจำนวนมากที่ใช้สารเคมีที่มีพิษร้ายแรงในระดับความเป็นพิษต่างๆ กัน ที่สำคัญคือ ร้อยละ 14 ของเกษตรกรมีการใช้สารเคมีที่ถูกห้ามนำเข้า ผลิต และส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองในประเทศไทย
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า วัตถุอันตรายชนิดต่างๆที่มีการควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2551 ซึ่งแบ่งเป็น 4 ชนิด โดยในปี 2552 นำเข้าถึง 118,151 ตัน วัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ประกอบด้วย สารกำจัดแมลง 133 ชนิด สารกำจัดวัชพืช 136 ชนิด สารป้องกันกำจัดโรคพืช 112 ชนิด สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและอื่นๆอีก 58 ชนิด โดยการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีปริมาณสูงขึ้นทุกปี และถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมการขึ้นทะเบียนสารอันตรายเหล่านี้แล้ว ก็ควรจะมีการทบทวนการขึ้นทะเบียนของสารอันตรายใหม่ เพื่อประโยชน์ในการปกป้องสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
“กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับ สสส. มหาวิทยาลัย และกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้จัดประชุมเพื่อค้นหาชนิดสารเคมีอันตรายที่ต่างประเทศเลิกใช้ เพื่อเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้อง ห้ามนำเข้าหรือจดทะเบียนสารเคมีเหล่านี้ต่อไปและได้มอบหมายกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หาแนวทางการนำพืชหรือสมุนไพรที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น สะเดา เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าด้วย” ดร.พรรณสิริ กล่าว
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า ตามโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใสที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำในปี 2554 นี้ จะเน้นเรื่องการป้องกันการเจ็บป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยจะมีการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและแนวทางการป้องกันอย่างชัดเจนลงสู่หน่วยงานระดับต่างๆ จนถึงเกษตรกร ประการสำคัญ ขณะที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรจะต้องใส่ถุงมือ สวมหน้ากากปิดปากจมูก และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสสารเคมีโดยตรงที่ผิวหนังและการสูดเข้าทางจมูก
ทั้งนี้ สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ตามโครงการ จะจัดครั้งต่อไปในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ จ.เพชรบูรณ์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ จ.บุรีรัมย์ และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ จ.ระยอง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ