xs
xsm
sm
md
lg

“รมช.สธ.” โหมเปิดโครงการ “เกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย” นำร่องที่โคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พรรณสิริ  กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส   นำร่องแห่งแรกที่ จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 7 เม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “ดร.พรรณสิริ” รมช.สธ. โหมเปิด “โครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยฯ” นำร่องแห่งแรกที่โคราช หลังพบเกษตรกรใช้ยากำจัดแมลงศัตรูพืชเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งสูง ตั้งเป้าเร่งตรวจสุขภาพเกษตรกรทั่วประเทศ 14.1 ล้านคนให้ครบภายใน 5 ปี เผยตรวจเลือดเกษตรกรโคราชพบผลเลือดไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 33

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ท อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส นำร่องแห่งแรกที่ จ.นครราชสีมา โดยมีตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ, เกษตรอำเภอ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,ภาคเอกชน, มูลนิธิ และ อาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 600 คนเข้าร่วมงาน

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เกษตรกรกลุ่มที่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงมีความเสี่ยงที่จะพบความผิดปกติทางคลินิก หรือมีอากาศพิษจากสารเคมี และก่อให้เกิดโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะมีอาการพิษทางระบบประสาทอื่น เช่น อาการอ่อนเพลีย ปวดหัว มึนงง เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายในการดูแลด้านสุขภาพแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปภายใต้โครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย ตั้งเป้าตรวจสุขภาพทั้งทางกายและจิตให้กับเกษตรกรทั่วประเทศที่มีอยู่จำนวน 14.1 ล้านคนให้ครบภายใน 5 ปี โดยในปี 2554 มีเป้าหมายตรวจสุขภาพเกษตรกร 8.4 แสนคน รวมถึงให้คำแนะนำในการใช้สมุนไพรเพื่อลดและล้างพิษซึ่งจะนำสมุนไพรรางจืด ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ขับพิษออก

ดร.พรรณสิริ กล่าวอีกว่า จากรายงานผลการดำเนินงานเจาะเลือดเกษตรกรในปี 2553 ของ จ.นครราชสีมา จำนวน 6,080 คน พบเกษตรกรมีผลเลือดที่ไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงจำนวน 2,007 คน หรือร้อยละ 33 พบมากที่สุดที่ อ.ประทาย, โนนไทย และ อ.โนนสู และจากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาฆ่าแมลงในอาหารประเภทพืชผักผลไม้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ พริกสด คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกว่า จำนวน 1,467 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 95 ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 5

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าปัญหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของเกษตรกรยังเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย

ดร.พรรณสิริ ยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเวชภัณฑ์ยา และบุคลากรลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวังและตรวจรักษาโรคที่มากับน้ำ ซึ่งขณะนี้พบว่าประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมเริ่มป่วยทางจิต มีการวิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสูญเสียญาติพี่น้องมีอาการซึมเศร้า ซึ่งได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสุขภาพจิต เร่งเข้าไปเยียวยาจิตใจให้แก่ประชาชนกลุ่มนี้แล้วพร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนไม่ให้เกิดความเครียด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต้องคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น