xs
xsm
sm
md
lg

สช.เตรียมหารือ “บีโอไอ” หาทางออกกรณี การลงทุนด้านสุขภาพ 7 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
สช.เตรียมหารือ บีโอไอ หาทางออกกรณี การลงทุนด้านสุขภาพ 7 ก.พ.นี้ เผย เน้นมิติเอื้อประโยชน์ต่อสังคม ไม่ขัด ธรรมนูญสุขภาพ
 

วานนี้ (2 ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีเสวนาเจาะประเด็น หัวข้อ “บีโอไอ จับมือ สช.ปรับทิศอุตสาหกรรมสุขภาพ” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จากที่ผลการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการพิจารณามติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ต่อกรณีการขยายการส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงพยาบาล และการเพิ่มประเภทกิจการที่จะส่งเสริมอีก 4 กิจการ ได้แก่ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ และกิจการโลจิสติกส์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งกิจการเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ 5-8 ปี และยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ 100% ของมูลค่าการลงทุน โดยในเวทีประชุม สมัชชาสุขภาพฯ เมื่อเดือน ธ.ค.2553 นายกฯ ได้พิจารณาและเห็นว่ามติเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 จึงมีคำสั่งให้ทบทวนมติดังกล่าว โดยมอบ สช.ให้ดำเนินการร่วมกับบีโอไอ เพื่อกำหนดกรอบทิศทางสุขภาพของประเทศ ซึ่งจะมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี

นพ.อำพล กล่าวด้วยว่า เรื่องสุขภาพเนื้อหาในธรรมนูญจะประกอบไปด้วย 111 ข้อ ที่เน้นการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปใช้อ้างอิงในการทำงาน โดยมีเป้าหมายให้ระบบสุขภาพในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการทบทวนธรรมนูญนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการทำงานที่สืบเนื่องจากธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เห็นได้จากกรณีการบริการการแพทย์สาธารณสุข ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติในหมวด 6 ว่าด้วยการบริการสาธารณสุขระบุว่า รัฐควรสนับสนุนโดยมุ่งเน้นหัวใจความเป็นมนุษย์เป็นหลัก เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ จากหลักการดังกล่าวจึงนำไปสู่การทบทวนมติของคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

เลขาธิการ สช.กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นเมดิคอล ฮับ นั้น หากพิจารณาแล้วจะพบว่า หากรัฐไม่ส่งเสริมเมดิคอล ฮับ ทางภาคเอกชนก็มีการเดินหน้าอยู่แล้ว และหากรัฐสนับสนุนอีกก็ยิ่งจะเพิ่มความเหลี่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ชัด คือ ปัญหาการแย่งบุคลากรย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ภาคเอกชนดึงแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ ขณะที่โรงเรียนแพทย์ก็ไปดึงแพทย์เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป สุดท้ายโรงพยาบาลศูนย์ก็ต้องไปดึงโรงพยาบาลชุมชนในที่สุด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาแพทย์ชนบทขาดแคลน สิ่งเหล่านี้ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพข้อ 51 ระบุชัดว่า รัฐไม่พึงสนับสนุนหรือให้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือการลงทุนจากการบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นประโยชน์ธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่ข้อ 106 ชี้ให้เพิ่มการเก็บภาษีจากการบริการสาธารณสุขที่มุ่งประโยชน์ธุรกิจ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ของการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“จริงๆ แล้ว รัฐส่งเสริมการนำผลกำไรจากการเก็บภาษีภาคธุรกิจตามข้อ 106 ไปส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักเรียนแพทย์ในชนบทเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของตนเอง ขณะเดียวกันควรส่งเสริมระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ เพื่อพัฒนาตนเองและมีการติดตามการตรวจรักษา ทำในลักษณะเหมือนแพทย์ประจำครอบครัว ซึ่งตรงนี้จะดีกว่ามุ่งที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันกรณีผู้ป่วยต้องถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แพทย์ประจำครอบครัวก็จะทราบทั้งประวัติ ผลการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้แพทย์ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย ตรงนี้จะเป็นแนวทางในการหารือระหว่าง สช.และบีโอไอ ในการหาแนวทางการส่งเสริมกิจการสุขภาพที่สอดคล้องระหว่างภาคเศรษฐกิจและสังคมต่อไป” เลขาธิการ สช.กล่าว

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษา บีโอไอ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเมดิคอล ฮับ ซึ่ง คกก.บีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายมาให้ศึกษาว่า หากต้องการเป็นเมดิคอล ฮับ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งนโยบายเดิมได้มีการระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ทั้งแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า คณะกรรมการบีโอไอ ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพจริงๆ จึงไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งมาทราบในมติคณะกรรมการบีโอไอเอง โดยขณะนี้ได้ชะลอและนำกลับมาหารือร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ขณะนี้จึงมีการตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะมีประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 7 ก.พ.นี้

“สำหรับคณะทำงานชุดนี้จะเน้นพิจารณาเรื่องสังคม โดยเน้นการส่งเสริมกิจการภาคสังคมมากขึ้น และจะมีการศึกษาว่าควรมีกิจการใดบ้าง และควรส่งเสริมในลักษณะใดบ้าง ซึ่งหน้าที่หลักของบีโอไอในเรื่องการส่งเสริมกิจการจะมี 2 ทาง คือ การยกเว้นอากรขาเข้าพวกเครื่องไม้เครื่องมือ และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งกม.ระบุสูงสุดไม่เกิน 8 ปี อย่างไรก็ตาม สำหรับเชิงสังคมต้องมีการพิจารณาว่าเครื่องมือของบีโอไอจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่โดยข้อเท็จจริงต้องดูภาพรวมของอื่นๆ ด้วย” นางหิรัญญา กล่าว

นายยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน บีโอไอ กล่าวว่า จุดอ่อนของเมดิคอล ฮับ ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ พบว่า สิงคโปร์ยังเหนือกว่าไทยในเรื่องเทคโนโลยีและเครื่องมือแพทย์ มีระบบส่งต่อผู้ป่วยที่รวดเร็ว และสะดวกสบายกว่า ส่วนประเทศไทยมีข้อดีด้านการบริการ แต่หากมองจำนวนของชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในไทย จะพบว่า มีความพึงพอใจในเรื่องบริการมากกว่า สำหรับจุดอ่อนในแง่อื่นอยู่ที่การพัฒนาบุคลากร อย่างการนำวิทยากรต่างชาติมาอบรมในภาคเอกชนของไทยจะค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากเอกชนไม่สามารถออกใบประกอบโรคศิลปะได้ แต่หากไปฝึกอบรมให้ภาครัฐจะไม่ประสบปัญหาเรื่องนี้ ขณะที่สิงคโปร์มีระบบรองรับเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยเอกชนสามารถออกใบประกอบโรคศิลปะชนิดชั่วคราวได้

“ที่สำคัญ สิงคโปร์มีการพัฒนาเมดิคอล ฮับ เป็นแพกเกจ คือ ให้คนต่างชาติมารักษาได้ แต่ต้องมีการผลิตแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรองรับกลุ่มต่างชาติด้วย โดยการเปิดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นมาในปี 2550 และแห่งที่ 3 จะเปิดอีกในปี 2555 ซึ่งเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ โดยคนมาเรียนจะมีทั้งคนสิงคโปร์ และคนต่างชาติ สำหรับประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์มีน้อย ขณะเดียวกัน ในโรงพยาบาลรัฐก็มีการบริการที่สูง ผู้ป่วยมาก ขณะนี้จึงแนวคิดว่าควรมีแนวทางในการใช้พื้นที่ของภาคเอกชน โดยทำเป็นความร่วมมือภายใต้โครงการการมีส่วนร่วมระหว่างเอกชนเพื่อการลงทุนในโครงการภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า Public Private Partnerships หรือ PPP ซึ่งเป็นแนวทางแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น