วธ.หวังให้ครูภูมิปัญญาไปสอนเด็ก-เยาวชนแล้ววัดผลเป็นคะแนน หนุนเด็กที่มีความรู้ความสามารถด้านภูมิปัญญาเป็นหน่วยวัดเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยและขอรับทุนการศึกษา พร้อมเผย สวธ.ยังถอดองค์ความรู้จากครูภูมิปัญญาของชายแดนใต้กว่า 100 เรื่องเพื่อเผยแพร่ความรู้อีกด้วย
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการที่มีการนำเสนอเรื่องครูภูมิปัญญาถูกลืมนั้น ในส่วนของ วธ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งตอนนี้ในส่วน พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ได้มีการวางหลักเกณฑ์ส่งเสริมผู้มีความรู้ดีเด่นด้านวัฒนธรรมหรือครูภูมิปัญญาใหม่ โดยจะมีการส่งเสริมความรู้เรื่องภูมิปัญญาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ตนอยากให้ครูภูมิปัญญาได้ไปสอนเด็กและเยาวชน แล้วมีการประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อวัดผลจากสิ่งที่ครูภูมิปัญญาสอนไปในรูปแบบของคะแนนในชั้นเรียน ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยควรที่จะนำความรู้ด้านภูมิปัญญามาเป็นหน่วยวัดความสามารถในการเข้าศึกษาต่อหรือพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษาเหมือนกับความสามารถพิเศษด้านอื่นด้วย ดังนั้น วธ.จะต้องมีการประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญ วธ.จะทำให้ครูภูมิปัญญาได้มีการเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ถอดองค์ความรู้จากครูภูมิปัญญาของจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 100 เรื่องแปลเป็น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษามลายู และภาษาอังกฤษ เพื่อใช้เผยแพร่ความรู้เหล่านี้ ซึ่งต่อไปวธ.จะส่งเสริมให้มีการจัดเก็บรวบรวมความรู้เหล่านี้ให้ครบทุกภูมิภาค และจัดพิมพ์เป็นหนังสือองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่สู่โรงเรียนและห้องสมุดต่างๆ รวมทั้งจะได้มอบให้หน่วยงานราชการ นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดเป็นสินค้าโอทอป นอกจากนี้ เราจะมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ วธ. อีกทั้งจะเชื่อมโยงแนวคิด ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่เสนอให้ทำแผนที่คนดี โดยเฉพาะครูปัญญา เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย” ปลัด วธ.กล่าว