xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” สั่งแก้ปัญหาความประพฤตินักเรียน ดีเดย์เปิดเทอม 54 นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“ชินวรณ์” ชูนโยบายแก้ปัญหาเด็กตีกัน สั่งดีเดย์วันเปิดภาคเรียน’54 ส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมประพฤตินักเรียน 1,500 คน ติดตามเฝ้าระวังจุดเสี่ยง โดยร่วมมือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผุดศูนย์ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน 4 มุมเมือง 12 ภูมิภาค

วันนี้ (11 ม.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอแผนการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา 4 ด้าน คือ 1.ด้านการทะเลาะวิวาท 2.ด้านหนีเรียน 3.ด้านชู้สาวและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันสมควร 4.ด้านยาเสพติด ซึ่ง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2553 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง ศธ.ได้ดำเนินการเชิญกระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นภาคีเครือข่ายทั้งหมด 22 ภาคีเครือข่าย มาปรึกษาและได้ข้อสรุป โดยเห็นว่าจะให้การแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทนักเรียนนั้นยกระดับ และเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.ตลอดจนเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก จึงได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนนักศึกษาขึ้นมา ในการที่จะดำเนินการในการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนต่อไป ซึ่งจะกำหนดวันดีเดย์ ในวันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2554 นี้

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการดำเนินงานไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 4 ด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์เชิงรุก ได้แก่การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ การแสวงหาภาคีเครือข่าย การจัดทำประวัติข้อมูลนักเรียน การคัดกรองนักเรียนให้อยู่ในกลุ่มที่มีความชัดเจน เช่น กลุ่มเสี่ยง กลุ่มพิเศษ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การตั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน 1,500 คน ทั้งนี้ ยังดำเนินการจัดสร้างศูนย์ ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน 4 มุมเมือง และ 12 ภูมิภาคอีกด้วย 2.มาตรการต่อเนื่อง จะมีมาตรการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน มาตรการตามโครงการเยี่ยมบ้าน มาตรการส่งเสริมทักษะทางปัญญาโดยเน้นให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ ให้รู้จักเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ คือ มาตรการทักษะชีวิต ที่จะให้นักเรียนนักศึกษาเรื่องครอบครัวศึกษา เข้าใจบุคลิกภาพทางการศึกษา และเข้าใจพฤติกรรมวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น

นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า 3.มาตรการทางสังคม จะส่งเสริมการประสานงานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อนของนักเรียนด้วยกัน ภาคีเครือข่ายของผู้ปกครอง ภาคีเครือข่ายของหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายทั้ง 22 ภาคีเครือข่าย การติดตามเฝ้าระวังจุดเสี่ยง โรงเรียนเสี่ยง บุคคลเสี่ยง โดยร่วมมือกันระหว่าง ชุดเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่จะต้องดูแลและติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และ 4.มาตรการทางกฎหมาย จะได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่จะให้เข้าใจในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายอาญา หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่จะต้องนำมาบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการนำหลักธรรมทางศาสนาเข้ามา เพื่อให้เกิดกรอบศีลธรรมอันดีกับนักเรียนนักศึกษา เพื่อต้องการที่จะส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น