xs
xsm
sm
md
lg

หมอชายแดน ขอบคุณ “จุรินทร์” ผลักดันให้สิทธิสุขภาพคนไร้สถานะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
เครือข่ายหมอชายแดน และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือขอบคุณ “จุรินทร์” ผลักดันให้สิทธิการรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะบุคคล วอนรัฐเร่งจัดการกลไกเยียวยาให้เห็นผลโดยไว ขณะเดียวกัน มีคนไร้สถานะตกสำรวจอีกกว่า 1.4 แสนคน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เสนอตั้งกรรมการจากทุกภาคส่วนบริหารงบฯ หาทางออก ดึงภาคประชาชนร่วมออกแบบแนวทางรองรับ เหตุรู้ปัญหาในพื้นที่โดยตรง เผย จ.ตาก วิกฤตโรคชายแดนรุม ปี 52 ป่วยมาลาเรียกว่า 1 หมื่นราย พ่วงโรคไข้ทัยฟอยด์-ไข้เอนเทอริคสูงสุดในประเทศ

วันที่ 24 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะตัวแทนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานนะบุคคล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะตัวแทนจาก เครือข่ายหมอชายแดน และคณะตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 20 คน ได้เข้าพบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือขอบคุณและมอบกระเช้าดอกไม้ ที่คณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันผ่านมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกลางจำนวน 472 ล้านบาท ให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 457,409 คน เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยพญ.กนกนาถ พิศุทธกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอดกล่าวว่า ที่พวกตนมาในวันนี้นั้น ก็เพื่อแสดงการขอบคุณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนสำคัญที่ได้ร่วมผลักดันเกิดมติคณะรัฐมนตรีที่ให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานและสิทธิ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นพี่น้องชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามชายแดนเป็นจำนวนมาก มติครม.ส่วนนี้จะช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นจำนวนมาก

น.ส.อาเหมย แซ่ฟู่ ตัวแทนชนเผ่าไต (ไทยใหญ่) จากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา พวกตนประสบปัญหาในเรื่องการรับการบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขจากรัฐ ด้วยสาเหตุและกลไกหลายอย่าง หากแต่มติ ครม.ครั้งนี้จะทำให้ตนและเพื่อนๆ สามารถเข้าถึงการรับการบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น จึงอยากจะขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันมติ ครม.ในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นายจุรินทร์ กล่าวว่า มติ ครม.ในครั้งนี้นั้นได้ผ่านการต่อสู้มาในหลายชั้นมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายองค์กรได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ซึ่งประโยชน์จากมติ ครม.ในครั้งนี้กลุ่มคนที่จะไดรับผลประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานและสิทธิ สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณให้ทันในวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นครึ่งปีหลังของงบประมาณ โดยจะจ่ายงบประมาณผ่านไปยัง สป.สธ.และ สป.สธ.จะเป็นหน่วยงานที่ส่งต่องบประมาณรายหัวไปยังโรงพยาบาลชายแดนต่อไป

วันเดียวกัน ที่โรงแรมริชมอนด์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาทนายความ และเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน ร่วมจัดงานเสวนาเรื่อง “หนทางสู่การให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ”

โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดสรรงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มคนตามแนวชายแดนจำนวน 475,409 คน ถือเป็นความคืบหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน ในการดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เนื่องจากในมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ที่ได้รับการดูแล ถือเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มคนตามแนวชายแดนเท่านั้น ยังเหลืออีก 2 ใน 3 ที่ยังเป็นภาระของโรงพยาบาลอยู่ จึงยังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ แต่ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การดูแลสุขภาพของกลุ่มคนที่อยู่ในแนวชายแดน ดังนั้น จึงอยู่ที่การบริหารจัดการกองทุนในปีถัดไปเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่ยั่งยืน เพราะคนเหล่านี้ ถือเป็นผู้ที่เสียภาษีให้รัฐทุกปี รัฐจึงควรให้การดูแล

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มคน 2 ใน 3 เป็นกลุ่มที่ตกหล่นที่จัดว่าเป็นคนในกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ควรจะได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นญาติของคนในกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผัน โดยมีอีกประมาณ 140,000 คน จึงควรที่จะพิจารณาให้ได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันตนอยากให้มีการสำรวจกลุ่มคนไทยที่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือไปแจ้งเกิดแล้วแต่หลักฐานไม่ครบซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะให้บัตรผู้ไม่มีสาถานะไว้ก่อน ซึ่งตนเห็นว่าคนกลุ่มนี้ควรที่จะได้รับสิทธิด้านสุขภาพด้วย

“ตามมติ ครม.จะเหลือเวลาอีก 5 วันเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ากลุ่มคนที่ได้รับสิทธิสามารถที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิดังกล่าวได้ทันที ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ควรเร่งทำหนังสือชี้แจงแนวปฏิบัติไปยังโรงพยาบาล และกลุ่มบุคคลเป้าหมาย เพื่อให้ทันวันที่ 1 เมษายนนี้ด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายหมอชายแดน กล่าวว่า กรณีที่ครม.มีมติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการจัดการแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น จึงตั้งงบประมาณไว้ที่สำนักงานปลัดฯ ไปก่อน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ดีกว่าจะถูกตีกลับนำไปทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่วนที่ว่าจะมีการโอนให้ สปสช.ไปดำเนินการต่อในอนาคตหรือไม่นั้น ควรจะมีการตีความกฎหมายให้ชัดเจน โดยเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความจะดีที่สุด

“ช่วงที่สำนักงานปลัดฯ ต้องดูแลไปก่อนนั้น ควรจะเลือกกลุ่มงานที่มีศักยภาพเข้ามาดูแลด้านนี้ อย่างกลุ่มงานประกันสุขภาพ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว การทำงานจะไม่ยุ่งยาก จากนั้นก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งภาคประชาชน แพทยชนบท เครือข่ายแพทย์ชายแดน ชาวชนเผ่าต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีความชำนาญเรื่องนี้อยู่แล้วอย่าง สปสช. เพื่อให้ทั้งหมดเข้าใจถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเกิดการจัดสรรงบประมาณตามสภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ทำให้การดำเนินการโปร่งใสจริงๆ” นพ.วรวิทย์ กล่าว

นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์สุขภาพของบุคคลไร้สัญชาติ ตามจังหวัดชายแดน จากข้อมูลสำนักระบาด กรมควบคุมโรค ในปี 2552 พบว่า จ.ตาก มีอัตราการป่วยของโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคในพื้นที่ชายแดนมากที่สุดในประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 10,057 ราย มีอัตราป่วย 1,881 คนต่อแสนประชากร คิดเป็น 40% ของผู้ป่วยมาลาเรียทั้งประเทศ รองลงมาคือ จ.แม่ฮ่องสอนและระนอง อัตราป่วย 654 และ 516 คนต่อแสนประชากร การรักษาต้องให้ยาฆ่าเชื้อในกระแสเลือดกับผู้ป่วยโดยเร็ว จึงจะได้ผลต่อการควบคุมการระบาดของโรค และยังพบว่า มีอันตราการป่วยของโรคไข้ทัยฟอยด์ และไข้เอนเทอริคสูงที่สุดในประเทศ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการแบกแยกการรักษาตามเดิม จะไม่สามารถป้องกันโรคได้ แต่ต้องเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษา

นายสรวิชญ์ แชกอ ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ผ่านมา คือ 1.การเดินทางเข้ารับการรักษาที่ต้องขออนุญาตจากอำเภอก่อน 2.ภาษาและการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน และ 3.การถูกเลือกปฏิบัติหรือการถูกปฏิเสธให้การรักษา ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ไปสถานบริการสุขภาพ มติคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการเปิดกว้างให้พวกตนที่เป็นชนเผ่าตามแนวชายแดนได้เข้าถึงระบริการสุขภาพ ทั้งนี้ในการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข ตนอยากเสนอให้มีการจัดการที่ชัดเจนในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเช่นเดียวกับรูปแบบของสปสช.ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนในภาคต่างๆเข้าร่วม เพราะรู้ปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนในพื้นที่โดยตรง และควรมีรูปแบบการเข้าถึงบริการให้สะดวกแก่ผู้รับบริการ รวมถึงล่ามภาษาตามโรงพยาบาลอำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหาการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น