xs
xsm
sm
md
lg

ครุฑพ่าห์

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เห็นหนังสือ “เสียงทักษิณ” (Voice of Taksin) เล่มล่าแล้ว ใครจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่ผมไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ เพราะก็เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าครุฑสื่อสัญลักษณ์ถึงอะไร

ครุฑสื่อสัญลักษณ์ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ !

“ครุฑ” เป็นสัตว์กึ่งเทพในวรรณกรรมอินเดีย พญาครุฑชื่อ “เวนไตย” เป็นพาหนะของพระนารายณ์

“ครุฑพ่าห์” หมายถึงครุฑกางปีก สื่อถึงครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์โดยตรง

“ครุฑพ่าห์” หรือ “พระครุฑพ่าห์” คือครุฑกางปีก เป็นสัญลักษณ์ของราชบัลลังก์ เป็นตราประจำแผ่นดินของประเทศไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

คำว่า “พ่าห์” ก็มาจาก “พาหะ” ซึ่งก็คือ “พาหนะ” นั่นเอง ตามหลักภาษาไทยคำนึงถึงความไพเราะในการอ่านออกเสียงด้วย คำว่า “พาหะ” ลงตัวด้วยคำตาย ฟังไม่ไพเราะ จึงเอาการันต์ไปใส่บน “ห” แต่เพื่อไม่ให้อ่านว่า “พา” จึงต้องเอาไม้เอกไปใส่ในพยัญชนะตัวหน้าด้วย เหมือนกับคำ “ดุลพ่าห์” ที่หมายถึงตาชั่งของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งที่จริงมาจาก “ดุลพาหะ” แต่อ่านแล้วฟังไม่ไพเราะเช่นกัน จึงใส่การันต์และไม้เอกโดยนัยเดียวกัน

ทุกอารยธรรมในโลกมีตำนานว่าด้วยพญานกใกล้เคียงกัน ในลักษณะทางปรัชญาที่แปลความหมายได้ว่าเป็นสื่อพันธกิจโดยตรงจากพระเจ้า ผู้นำสาร หรือผู้นำพา เช่น ฟินิกซ์ - นกอมตะที่เผาตนเองแล้วคืนชีพใหม่สู่วิถีที่สูงส่งกว่า, ธันเดอร์เบิร์ด - ของชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปอเมริกา, อิมดู - พาหนะของเทพแห่งสงครามในอารยธรรมเมโสโปเตเมียน , บีนไซ - ของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรแปซิฟิก, ร็อก - ในตำนานปรัมปราของชาวเปอร์เซียน, ฯลฯ

มีผู้วิเคราะห์ไว้อย่างแยบยลว่า ความคิดของผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใด ล้วนให้คุณค่าต่อสิ่งที่อยู่เบื้องบน หรือสิ่งที่ลงมาจากเบื้องบนหรือท้องฟ้า จนหลายครั้งเป็นการลดค่าของสิ่งที่อยู่ต่ำ ทั้งบนดิน และใต้ดิน โดยนัยแห่งบทวิเคราะห์นี้ก็คือ

“โลกียะ” = การอยู่ติดพื้นดิน (หรือใต้ดิน) คือสภาะที่เป็นไปตามแรงดึงดูดโลก

“โลกุตระ” = การบินได้ เปรียบเสมือนการพ้นจากโลกียวิสัย


แม้นักเขียนตะวันตกอย่างริชาร์ด บาค ยังนำไปเปรียบเทียบไว้ในงานเขียนเรื่อง “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน - นางนวล” อันโด่งดังเมื่อ 30 ปีก่อนของเขา โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิรินำมาแปลเป็นภาษาไทย 2 สำนวน

เทพและอภิมนุษย์ หรือ “ซูเปอร์ฮีโร่” ทุกชาติพันธุ์มักจะต้องเหาะเหิรเดินอากาศได้

ปีกคืออุปกรณ์ในการเชื่อมโยงระหว่างภพเป็นจริง เป็นคุณลักษณ์พื้นฐานของเทพและอภิมนุษย์ในทุกคติ เป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติของมนุษย์สามัญ

ปรัชญาและคติที่ว่ามานี้ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสูงกับต่ำ นรกกับสวรรค์ รวมไปถึงความเป็นคู่ตรงข้ามของสัตว์อย่างนก และงู ในขณะที่นกเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและอารยะ งูกลับเป็นสัญลักษณ์ตรงข้ามที่สื่อถึงความไม่ดีไม่งามต่างๆ

ในคติฮินดู – งูหรือนาคเป็นศัตรูของครุฑ !

แต่ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น คือกระบวนทัศน์ของพระนารายณ์ ที่ทรงเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง

พระนารายณ์บรรทมและเจริญสมาธิบนขดร่างพญานาค และทรงครุฑยามที่จะลงมายุติทุกข์เข็ญของมนุษย์

ไม่ใช่จู่ ๆ พญาครุฑเวนไตยจะมาเป็นพาหนะให้พระนารายณ์ง่ายๆ นะครับ

ตามเทพปกรณัมของฮินดูนั้น ครุฑมีฤทธิ์เดชสามารถเอาชนะเทพได้ทุกองค์ และกับพระนารายณ์นั้นก็ไม่ได้มีฝีมือเหลื่อมล้ำกันเท่าใดนัก แต่เมื่อได้เผชิญหน้ากันในศึกชิงน้ำอมฤต นอกจากจะยอมรับในฝีมือของกันและกันแล้ว พระนารายณ์ยังยอมรับในจิตใจสูงส่งและความข่มใจอันหนักแน่นของพญาครุฑเวนไตย จึงนอกจากจะไม่สู้รบต่อแล้ว ยังเอ่ยปากจะขอประทานพรทุกประการที่ต้องการให้

ตรงนี้ งดงามมากเพราะแสดงให้เห็นความสูงส่งของทั้งพระนายรายณ์และพญาครุฑเวนไตย

พรที่พญาครุฑเวนไตยต้องการคือ...

“ขออยู่สูงกว่าพระองค์ ขอเป็นผู้ไม่มีเวลาตาย และไม่มีเวลาเจ็บ แม้ไม่ได้กินน้ำอมฤต”

เพื่อความไม่เอาเปรียบและแสดงความเท่าเทียมกัน พญาครุฑเวนไตยขอถวายพรข้อหนึ่งตามแต่พระนารายณ์จะขอเช่นกัน

“ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตอยู่ที่ยอดเสาธงของข้า เพื่อที่ท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า”

นี่คือพรที่พระนารายณ์ขอ !

โดยนัยนี้ “ครุฑพ่าห์” อันเป็นทั้งตราแผ่นดินและสัญลักษณ์พระเจ้าแผ่นดินของเราจึงมีที่มาที่สื่อความหมายสูงส่ง เพราะเป็นเสมือนจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ที่เข้าแบกรับภาระตามสัจจะ เสมือนผู้เฝ้าคอยพิทักษ์รักษาความเข้มแข็งของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และความดีความงามความสว่างความสงบ ให้คงอยู่ตลอดไป

การนำ “ครุฑพ่าห์” มาใช้สำหรับคนไทยทั่วไปจึงมีน้อยมาก หรือถ้ามีก็ทำด้วยความระมัดระวัง

แต่คนทำ “เสียงทักษิณ - Voice of Taksin” ไม่ใช่คนไทยทั่วไป !


เนื้อหาในเล่มเกิดขึ้นหลังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีสำคัญเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 จึงมีบทวิพากษ์วิจารณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเต็มไปหมด โดยเฉพาะที่ปกหน้าด้านในก็ทำเป็นภาพศาลพระภูมิประดับด้วยข้อความว่า “ถิ่นกาขาว” เครื่องบินเด็กเล่น 1 ลำ ปืนกลปลอม 2 กระบอก และข้อความว่า “ศาลสถิตอยุติธรรม ณ ทุ่งผีปอบ” โดยข้างล่างเป็นบทกวีเนื้อหาล่อแหลมต่อการถูกเข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เราต้องนำข้อเท็จจริงเหล่านี้และข้อเท็จจริงในคำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มคนที่สนับสนุนเขามาพิจารณาประกอบการอ่านนัยจากภาพปกที่ทำเป็นรูปครุฑพ่าห์ปิดหน้า ที่พาดหัวว่า...

“ปิดหน้าปล้น”

ควรเข้าใจด้วยว่าปกหน้าหนังสือเล่มนี้ยังนำบทความเด่นในเล่มมาพาดหัวรองประกอบอีกด้วยว่า...

“บ้านจะดีต้องเริ่มที่พ่อ”

ใครจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่ผมไม่อาจคิดเป็นอื่นได้

บ้านนี้เมืองนี้ ณ วันนี้ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้มากความแล้ว ขอส่งความรักความปรารถนาดีมายังท่านผู้อ่านด้วยข้อความเดิมจากใจจริงอีกครั้ง

ขอให้ทุกท่านมีสติปัญญาแจ่มใสเห็นชัดชั่วดีผิดชอบเสื่อมเจริญทั้งหลายด้วยเทอญ !
กำลังโหลดความคิดเห็น