xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข จวก “จุรินทร์” ชักช้า! ซื้อเวลาเสนอ พรบ.วิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขจวก “จุรินทร์” สั่งยกร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขฉบับใหม่ เหมือนซื้อเวลา ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด เกรงบรรจุเข้าวาระพิจารณาของสภาฯไม่ทันสมัยประชุมนี้ จี้ สธ.เร่งตอบข้อหารือสำนักเลขาธิการนายกฯ-สภาฯ ขู่รวมตัวกดกันอีก


วันที่ 3 มี.ค. นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข แต่สมาคมฯไม่อาจวางใจ เพราะหากพิจารณาตามเงื่อนเวลาที่สภาผู้แทนราษฎร และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือมายัง สธ.เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2552 เพื่อขอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลดี ผลเสีย และให้การรับรองหรือไม่รับรอง พร้อมเหตุผลประกอบ และมีนโยบายต่อร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขหรือไม่ อย่างไร โดยให้แจ้งผลการดำเนินการภายในวันที่ 24 ก.ย.2552 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการให้เสร็จสิ้น ทั้งที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.รับปากเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2553 และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 18 มค.2553

นายไพศาลกล่าวต่อว่า จากการติดตามการทำงานของ สธ.เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และรับทราบข้อมูลมาว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ได้แจ้งต่อที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข และจะเร่งรีบให้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่วาระการพิจารณาภายใน 3 สัปดาห์ แต่จนถึงขณะนี้นายจุรินทร์ยังไม่ลงนามในหนังสือตอบกลับไปยังหน่วยงานดังกล่าว ในทางกลับกันได้มอบหมายให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขฉบับกระทรวง สธ.ขึ้นใหม่ เพื่อนำไปประกบร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขฉบับที่อยู่ในสภาฯ ที่รอการหยิบบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาฯ

“การดำเนินการตามกระบวนการเช่นนี้เท่ากับต้องเริ่มต้นขั้นตอนใหม่เกือบทั้งหมด เหมือนเป็นการซื้อเวลา และเมื่อพิจารณาตามเงื่อนเวลาแล้ว ไม่อาจบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาฯ ได้ทันภายในวันที่ 4 มีนาคม 2553 หรือภายใน 3 สัปดาห์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ลั่นวาจาไว้ ในเร็ววันนี้อาจมีการรวมตัวของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหมออนามัยทั่วประเทศอีกครั้ง แต่เป็นการเดินทางมารวมตัวกันอย่างสันติ เพื่อชี้ให้สังคมสาธารณะได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง ส่วนสถานที่และเวลาคงกำหนดภายหลัง แต่เป้าหมายคงไม่ใช่ที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ก่อให้เกิดผลแต่ประการใด ”นายไพศาลกล่าว

นายไพศาลกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 2 และ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้มีโอกาสเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ถึงเหตุผลและความจำเป็นว่า ทำไมประเทศไทยจึงต้องเร่งให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข ทุกฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีและเห็นด้วยในหลักการของการมี พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขในครั้งนี้ และต้องการเห็นความเอาจริงเอาจัง ของสธ. ด้วยการมีหนังสือตอบข้อหารือไปยังหน่วยงานดังกล่าวให้ชัดเจนไปก่อน เพื่อให้มีการนำร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. .... บรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาฯ ให้ทันในสมัยประชุมสามัญนี้โดยเร็ว จากนั้นจึงค่อยวิเคราะห์ในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขในขั้นตอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น