“วิทยา” ลั่นไม่แทรกแซงตรวจสอบไทยเข้มแข็ง ปล่อยหน้าที่ปลัด สธ.ถึงเวลาต้องได้ตัวจริง ไม่ใช่แค่ตัวย่อ ปลัด สธ.เตรียมตั้งคณะกรรมการคนนอก หากผลสอบข้อเท็จจริงพบมีมูลตามข้อร้องเรียน
วันนี้ (12 ต.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เสนอให้มีการย้ายข้าราชการประจำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งออกจากตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส ว่า การตรวจสอบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งนั้น ตนได้มอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลและตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งตนจะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบเพราะเป็นระบบของราชการ ไม่ใช่การเมือง
“ส่วนการที่กลุ่มแพทย์ชนบทออกมาขับไล่ผมก็รู้สึกแปลกๆ แต่ก็ไม่อยากสงสัยอะไร ผมเป็นนักการเมืองต้องพร้อมเผชิญปัญหาทางการเมือง หากเป็นข้อเท็จจริงมีหลักฐานอะไรก็ขอให้ว่ามา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระบบราชการก็ต้องสอบสวนต่อไป โดยคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดต้องมีความคืบหน้ามากซึ่งรายละเอียดจะมีการแถลงผลเบื้องต้นในวันที่ 13 ต.ค.นี้ และหากล่าช้าต้องมีเหตุผลเพียงพอที่จะชี้แจงได้ และหากไม่มีเหตุผลก็พร้อมที่จะตั้งคนนอกเข้ามาตรวจสอบทันที” นายวิทยา กล่าว
ต่อข้อถามว่า กรณีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายการครุภัณฑ์ 7 รายการ ที่มี นพ.เสรี หงษ์หยก เป็นประธาน ถือว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับซี 10 นายวิทยา กล่าวว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่าบุคคลากรในกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถตรวจสอบได้สำเร็จ แต่ไม่อยากให้มองเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องของการเมือง เพราะไม่มีการเมืองใน สธ.ซึ่งตนมีนโยบายห้ามมีข่าววิ่งเต้นหรือซื้อขายตำแหน่งใดๆ อย่างเด็ดขาด เพราะตนเองมารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ก็ไมได้เสียเงินแต่อย่างใด ดังนั้น คนที่จะมาเป็นผู้บริหารของ สธ.ก็จะต้องไม่เสียเงินเช่นกัน โดยในวันที่ 13 ต.ค.จะนำรายชื่อข้าราชการระดับ 10 ฝ่ายบริหารเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)
ต่อข้อถามว่า มีความกังวลว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์จะปรับออกจากตำแหน่งหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ไม่กังวล และทางพรรครวมถึงนายกรัฐมนตรียังไม่ได้เรียกตนไปหารือเรื่องดังกล่าว และนายกฯ ยังเชื่อมั่นว่าตนจะสะสางเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะให้คนนอกร่วมเข้ามาตรวจสอบตามที่ นพ.เกรียงศักดิ์ ได้เสนอความเห็นไว้ ซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์ ก็อยู่ในคณะกรรมการทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งอยู่แล้ว
“ได้รายงานนายกฯไปเบื้องต้นแล้วว่า การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก รู้มากกว่า ต, ม, ก, ป, ส, ล แต่อยากให้รอฟังจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งจะชี้แจงในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) ไม่อยากให้เดากันไปก่อน แต่ยืนยันว่า เมื่อถึงเวลาต้องไม่ใช่ตัวย่อ ต้องเป็นตัวจริง หากไม่สามารถหาได้ก็ต้องเอาคนนอกมาตรวจสอบซ้ำ แต่หากผลตรวจสอบไม่พบว่ามีคนผิดอีก คนที่ปูดเรื่องนี้ต้องออกมารับผิดชอบในสิ่งที่พูดเหมือนกัน” นายวิทยา กล่าว
ต่อข้อถามว่า โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นของรัฐบาล เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคประชาธิปัตย์ กลับถูกโจมตีเพียงพรรคเดียว รู้สึกถูกโดดเดียวหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งได้หารือร่วมกับ นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ว่า จะทำให้ทุกเรื่องกระจ่าง ฝ่ายการเมืองจึงต้องโปร่งใส และหากมีผู้กระทำผิดจะไม่ไว้หน้าใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสว่า นายวิทยา จี้ให้ทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออกใช่หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ตนไม่เคยจี้ให้ใครลาออก รวมถึงทีมที่ปรึกษาและเลขานุการของตนด้วย ซึ่งเรื่องนี้หากพิสูจน์แล้วว่าคนเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตนก็จะเชิญเข้ามาทำงานอีกครั้งด้วย
ต่อข้อถามว่า ข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้นกระทบต่อสถานะทางการเมืองหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ยอมรับว่ากระทบเพราะประชาชนคิดว่าเกิดการโกงขึ้นแล้ว สังคมไม่เชื่อถือนักการเมือง คิดว่านักการเมืองเลวที่สุด และขณะนี้ตนก็เป็นนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์เพียงคนเดียวของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยืนยันว่า จะตรวจสอบให้ดีที่สุด และขณะนี้ยืนยันยังไม่มีการโกง เพราะยังไม่มีการเบิกจ่ายแม้แต่บาทเดียว และโรงพยาบาลใดที่ประกาศประกวดราคาและได้ผู้จัดซื้อจัดจ้างไปแล้วก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าโปร่งใสจริงๆ จึงจะยอมให้เบิกจ่ายเงินได้
ต่อข้อถามว่า รู้ตัวคนสั่งให้โกงแล้วใช่หรือไม่ นายวิทยา พยักหน้าและกล่าวว่า ยังไม่ขอบอกรอให้สืบจนจบก่อน
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รักษาราชการปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้คณะทำงานการตรวจสอบรายการครุภัณฑ์ที่มีกระแสไม่โปร่งใสและตกเป็นข่าว 7 รายการ ที่มี นพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงเป็นประธาน และชุดทบทวนความเหมาะสม รวมทั้งชุดทำงานย่อย 3 ชุด และชุดของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 18 เขต จะผลสรุปเบื้องต้นในวันที่ 13 ต.ค.นี้ โดยหลักการคงต้องรอให้คณะกรรมการตรวจสอบฯชี้มูลว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่หากพบว่ามีมูลอาจจำเป็นต้องคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่ามีบุคคลใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
“หากมีการชี้มูลว่า พบการทุจริต คณะกรรมการชุดใหม่จะต้องเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ไม่เว้นแต่ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ต้องเชิญมาสอบถามถึงเจตนา และเหตุผลในการดำเนินการเช่นนั้น ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดใหม่จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเป็นคณะอนุกรรมการร่วมตรวจสอบด้วย เช่น ราคากลางการสร้างหอพักพยาบาล หากพบว่ามีมูลจะเชิญวิศวกรรมสถานเข้าพิจารณารายละเอียดเฉพาะทาง ส่วนครุภัณฑ์อื่นๆก็จะเชิญอาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ มาร่วมให้ข้อมูล” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ได้วางกรอบการดำเนินการหลังจากทราบผลการตรวจสอบ หากผิดตรงไหนจะเร่งแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยหากเป็นข้าราชการของสธ.และมีมูลจริง จะตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง และหากเกี่ยวข้องจริงจะสอบสวนทางวินัย ตามระเบียบของข้าราชการพลเรือนอย่างถึงที่สุด
“หากผู้เกี่ยวข้องเป็นนักการเมือง ตามระเบียบเสนอให้รมว.สาธารณสุขพิจารณา เนื่องจากสธ.ต้องการให้เม็ดเงินในโครงการนี้ 8.6 หมื่นล้านบาท ถึงประชาชนทุกพื้นที่ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับการให้บริการไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ หลังจากที่สธ.ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงทุนพัฒนาทั้งเครื่องมือแพทย์และอาคารบริการต่างๆมาเกือบ 8 ปี” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) และสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค (สบภ.) จัดทำแผนผังขั้นตอนการดำเนินงานของกระทรวง เริ่มตั้งแต่กระบวนการให้สถานบริการต่างๆ จัดทำคำขอมายังกระทรวงสาธารณสุข ขั้นตอนการจัดสรรของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการกำหนดราคาที่ตั้งคำของบประมาณ ขั้นตอนการทำสัญญาจัดจ้างเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยจะมีการดำเนินการตามระเบียบพัสดุ พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัดต่อไป
ส่วนกรณีข้อเรียกร้องของสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขที่ต้องการให้มีการย้ายข้าราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสนย. และผู้อำนวยการ สบภ.เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการตรวจสอบทำงานได้อย่างอิสระ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎระเบียบของข้าราชการโดยได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ดังนั้น การจะโยกย้ายใครจะกระทำได้ต่อเมื่อมีข้อมูลชี้ชัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้