xs
xsm
sm
md
lg

ขอ“มาร์ค”ตั้งคนกลางสางโกงSP2ก.ศึกษาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“สมาคมครูอาชีวศึกษา” ร้องขอ “มาร์ค” ตั้งคณะกรรมการคนกลางสอบ SP2 กระทรวงศึกษาฯ ทุกองค์กร ชี้หากจะให้โปร่งใสต้องรื้อใหม่ทั้งหมด ขณะที่ “ชินวรณ์”บอกหากมีหลักฐานขอให้ส่งถึงตนโดยตรง ยินดีจัดการด้วยตัวเอง แต่ต้องไม่ใช่แค่ข้อกล่าวหา ยันนายกฯ ยังใช้กฏเหล็ก 9 ข้อ ส่วน สธ.เตรียมเปิดตัวประธาน คกก.สอบวินัยข้าราชการเอี่ยวทุจริตไทยเข้มแข็งวันนี้ ย้ำเป็นผู้เหมาะสม เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจคนกรุงกว่าครึ่งระบุสถานการณ์ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยอยู่ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงที่สุด


วานนี้ (24 ม.ค.) นายธีรพัฒน์ คำคูบอน ในฐานะอุปนายกสมาคมครูอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตามโครงการไทยเข้มแข็ง หรือ SP2 ว่า ในวันที่ 28 ม.ค.คณะกรรมการธิการการศึกษา(กมธ.) วุฒิสภา ได้เชิญตนเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งตนได้เตรียมเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ไว้เพื่อมอบให้ กมธ.ใช้พิจารณา ส่วนข้อมูลที่มีจะชี้ชัดว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ ขอให้เป็นวิจารณญานของ กมธ. เพราะข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลที่ลงลึก ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่กล้าเปิดเผย แต่ต้องไปสืบหาความจริงในลำดับต่อไป

“ผมขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงมาดูแลการใช้งบประมาณ SP2 ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งคณะกรรมการที่เป็นคนกลางขึ้นมาตรวจสอบการใช้งบฯ ตามโครงการนี้ทุกหน่วยงานใน กระทรวงศึกษาฯ เพราะความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับหลายหน่วยงาน แม้แต่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.ก็มีกระแสข่าวว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ควรจะรื้อโครงการ SP2 ของกระทรวงศึกษาฯ ใหม่และนายกต้องสั่งการให้คนกลางเข้ามาตรวจสอบเช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข”นายธีรพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้สั่งการ รมช.ศึกษาธิการไปแล้วว่า ให้ตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งที่ดำเนินการอยู่ หากโครงการใดถูกต้องก็ให้เดินหน้าต่อไป เพราะเมื่อยืนยันว่าถูกต้องก็ต้องกล้าถูกตรวจสอบ แต่หากโครงการใดยังไม่ชัดเจนก็ให้ระงับไว้ก่อน นอกจากนี้ก็ได้บอกกับผู้ที่ออกมาร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยว่า หากมีข้อมูลที่เป็นจริงที่ไม่ใช่เพียงข้อกล่าวหา ขอให้ส่งมาให้ตน ตนจะจัดการด้วยตนเอง

“ส่วนกฏเหล็ก 9 ข้อ ท่านนายกฯ ใช้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย ซึ่งผมก็สั่งการให้เลขาธิการทุกองค์กรที่รับผิดชอบดำเนินทุกโครงการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้”

เมื่อถามว่า ขณะนี้ SP2ของกระทรวงศึกษาฯ ยังไม่ถึงขั้นต้องให้นายกฯ ตั้งคนกลางมาตรวจสอบ รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า ตนได้สั่งการเป็นแนวทางไปแล้ว
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ถูกชี้มูลว่าอาจจะมีการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็ง ว่า ขณะนี้ได้ตัวผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ แล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบระเบียบและกฎหมายในการสอบสวนและเข้าใจภาพรวมของโครงการเป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการสอบสวนข้าราชการระดับสูง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้สรรหาคณะกรรมการร่วมตรวจสอบ โดยจะแถลงให้ทราบพร้อมกันในวันที่ 25 ม.ค.นี้

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนการยกระดับสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ตนจะเร่งรัดโครงการให้เร็วขึ้น เนื่องจากขณะนี้การดำเนินงานเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมอบหมายให้นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ศึกษาแนวทางและกำหนดรูปแบบภารกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งหาสาเหตุว่าอุปสรรคปัญหาเกิดจากจุดใด เพื่อหาทางแก้ไข และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น นอกจากนี้จะปรับเป้าหมายจำนวนสถานีอนามัยที่จะยกระดับ จากที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายในปี 2552 ซึ่งตนเป็นผู้เขียนนโยบายดังกล่าวเอง ดังนั้นจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายและเร็วที่สุด

นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจเรื่อง “การรับรู้ของสาธารณชนต่อสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยในยุคนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กทม.มาจากพรรคเดียวกัน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,686 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ระบุสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยอยู่ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงที่สุด ร้อยละ 32.1 ระบุค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 67.0 รับรู้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์ โดยจำนวนมากหรือร้อยละ 38.4 เคยเจอด้วยตัวเอง และในกลุ่มที่เจอด้วยตัวเองนี้ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 70.0 เคยต้องจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 รับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐนำทรัพย์สินของราชการไปใช้ส่วนตัว โดยในกลุ่มนี้เกินกว่า 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.2 ที่เจอด้วยตนเอง

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 รับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของราชการไปเป็นของตนเอง โดย 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20.2 เคยเจอด้วยตนเอง เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.2 รับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐมีการฮั้วประมูลงานราชการ โดยร้อยละ 13.3 เคยเจอด้วยตนเอง และในกลุ่มที่เจอด้วยตนเองร้อยละ 44.4 ที่เคยต้องจ่ายด้วยตนเอง ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.7 รับรู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการบริการช่วยเหลือประชาชน เช่น ไม่รับแจ้งความ ไม่จดทำทะเบียนให้ เป็นต้น โดยเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.0 ที่เจอปัญหานี้ด้วยตนเอง และร้อยละ 54.8 ในกลุ่มนี้เคยต้องจ่ายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบริการช่วยเหลือประชาชน

ด้าน นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการ เนื่องจากผลสำรวจที่ออกมาอาจเกิดจากความเชื่อของบุคคลส่วนใหญ่ ที่มองว่า มีการทุจริตในวงข้าราชการจำนวนมาก รวมถึงปัจจุบันข้าราชการทำงานเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ส่วนการทุจริตต้องยอมรับว่า ยังมีอยู่เหมือนแวดวงต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น