ในที่สุดเวลาที่รอคอยก็มาถึง เมื่อได้ตัวไอ้โม่งตัวเอ้ 2 นักการเมืองระดับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเสี่ยน้อย-นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข และเสี่ยมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นรองประธาน กล่าวโทษว่า มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า“ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง”
คณะกรรมการฯ ใช้เวลานาน 2 เดือน ในการสรุปผลการตรวจสอบ โดยพบมีรายนามผู้กระทำผิดชนิดที่สามารถร่ายยาวเป็นหางว่าง แต่ผู้ที่มีความผิดชัดเจน ซึ่งมีทั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ รวม 12 ราย แบ่งเป็นฝ่ายข้าราชการการเมือง 4 ราย คือ 1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ โดยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ในฐานะเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแล ซึ่งการบริหารงานเยี่ยงนี้เท่ากับเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขได้
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมที่ส่อในการทุจริต คือ ไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง แต่กลับก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นส.ส.รวมทั้งน่าเชื่อว่า อาจจะพัวพันการฮั้วรถพยาบาลด้วย เพราะมีพยานยืนยันว่าได้นัดทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล
และ4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ หรือ “หมอแขก” อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด หรือ ยูวี แฟน
ส่วนข้าราชการประจำ 8 ราย คือ 1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ8.6 หมื่นล้านบาทกลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ. ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ 3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงราคาการก่อสร้างให้สูงเกินจริงเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต โดยไม่มีการประเมินความจำเป็นและความคุ้มค่า 5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน
ส่วนรายที่ 6-8 พบว่า บกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต คือ 6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ในปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดสธ.รับผิดชอบสบภ. จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ 7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง
และหากจะฉายภาพความผิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คงต้องแจกแจงหลักฐานทั้ง 4,733 แผ่นใน 6 ส่วน ได้แก่ 1.การกระจุกตัวของงบประมาณ 2.รายการสิ่งก่อสร้าง ที่บางแห่งได้ตึกที่ใหญ่เกินความจำเป็น ราคากลางก็สูงเกินเหตุ 3.รายการครุภัณฑ์มีความผิดปกติอย่างน้อย 12 รายการ โดยบางรายการล็อกสเปก บางรายการไม่มีความจำเป็น 4.การจัดซื้อสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ในกรมการแพทย์ มูลค่า 7,500 ล้าน มีการจัดซื้อด้วยราคาที่สูงจนเวอร์
5.รถพยาบาล 800 คัน ที่มาของการกินอาหารและเจรจาที่ภัตตาคารไดแนสตี้ โรงแรมเซนทาราลาดพร้าวเมื่อหัวค่ำวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.52 เกี่ยวข้องกับนายมานิต และนางศิริวรรณ เพื่อผลประโยชน์ 80 ล้านบาท
6. เครื่องยูวีแฟน ที่พบว่า ไม่มีคำขอจากผู้ใช้ และราคาสูงเกินจริง โดยหลักฐานชี้ว่า ผู้สั่งการเรื่องนี้โดยตรงคือ นพ.ปราชญ์ และพญ.ศิริพร ด้วยเหตุจูงใจส่วนตัวที่พญ.ศิริพร ต้องการไปปฏิบัติงานหลังเกษียณที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ โดยใช้เงินนอกงบประมาณของรัฐ นอกจากนี้นายวิทยา และนพ.กฤษฏา รวมถึงนพ.สุชาติ ยังถือว่ามีส่วนพัวพันในกรณีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสงสัยว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ มีความคล้ายคลึง สอดคล้องกับข้อมูลที่แพทย์ชนบทออกมาแฉก่อนหน้านี้แบบแทบแยกไม่ออก
ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี มีเพียง 3 ข้อ คือ1.ควรทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของ สำนักงานปลัดสธ. และกรมอื่น ๆโดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากรซึ่งจะต้องได้รับสัดส่วนเหมาะสมกัน โดยมุ่งคุณภาพ เพื่อให้เกิดสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว
2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังรับราชการและที่เกษียณอายุไปแล้วในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป และ3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.51 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ “เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด” และข้อ 9 ที่ระบุว่า “ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”
ทว่า ทันทีที่เสียงระฆังสั่นหมดยก นายวิทยาและมานิต ก็ออกมาปฏิเสธพัลวัน ในทุกข้อกล่าวหา โดยอ้างว่ายังไม่ได้จ่ายเงินสักบาทเดียว ดังนั้น การจะแสดงสปิริตรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่งหรือไม่นั้น คำตอบคือคงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเวลานายวิทยาได้เข้าพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ท่าทีของนายวิทยาก็เปลี่ยนไปและตัดสินแสดง “สปิริต” ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยมีผลในวันที่ 30 ธ.ค.
แน่นอน การลาออกของนายวิทยาย่อมส่งผลกระเพื่อมทางการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนั่นหมายความว่า จะมีเก้าอี้ว่างสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 1 ตำแหน่ง ซึ่งนายอภิสิทธิ์คงต้องใช้เวลาช่วงปีใหม่นอนก่ายหน้าผากว่า จะเสนอชื่อใครมานั่งเก้าอี้ตัวนี้
ส่วนนายมานิตนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เขาจะยังไม่ออกในขณะนี้และและคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า หลังจากปีใหม่แล้วพรรคภูมิใจไทยจะตัดสินใจชะตากรรมของนายมานิตอย่างไร