สธ.เร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูล เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก คาด รู้รายละเอียดข้อเท็จจริงภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ สนย.จวกเครือข่ายผู้ป่วย อ้างตัวเลขคลาดเคลื่อน ชี้ ข้อมูลที่อ้างอิงเป็นของ รพ.แค่ 2 แห่ง
จากรณีที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่ว ไป (สพศท.) ได้มีการแถลงข่าวประณามการกระทำของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการตายของผู้ป่วยจำนวน 65,000 ราย ที่ระบุว่า เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยเครือข่ายอ้างอิง ว่า เป็นข้อมูลจากการศึกษาของ นพ.สรรธวัช อัศวเรืองชัย ซึ่งนำข้อมูลการเสียชีวิตจากความผิดพลาดทางการแพทย์ในการประชุมขององค์การ อนามัยโลก เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นบุคลากรในสำนักนโยบายแผนและยุทธศาสตร์ (สนย.) ซึ่ง สพศท.ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการอ้างข้อมูลเท็จนั้น
ล่าสุดวันนี้ (15 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ตนได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้มอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อมูลการเผยแพร่ทั้งหมด ว่า มีข้อเท็จจริงอย่างไร โดยคาดว่ารายละเอียดต่างๆ จะแล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ที่มีการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก เข้าใจว่า ผู้เผยแพร่ได้นำข้อมูลจากการประชุมร่วมกับแพทย์รายหนึ่งที่เคยทำงานที่ สนย.และได้ลาออกไปแล้วมาใช้ในการอ้างอิง โดยแพทย์คนดังกล่าวได้เคยกล่าวไว้ในการประชุม ว่า จากการทบทวนระเบียนผู้ป่วยในของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 แห่ง พบว่า 10% เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ในจำนวนนี้ 10% เสียชีวิต โดยเกิดจากสิ่งที่สามารถป้องกันได้ครึ่งหนึ่งและแพทย์รายนี้ได้กล่าวไว้เพียงเท่านี้
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวคิดว่า การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว อาจมีตัวเลขบางส่วนที่เกินความจริง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้เผยแพร่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาผนวกรวมเข้ากับจำนวนคนไข้ในที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ในปี 2552 โดยเป็นข้อมูลของปี 2551 ซึ่งระบุว่า มีผู้ป่วยใน 13 ล้านครั้ง หมายถึง 13 รายโรคไม่ใช่ผู้ป่วย 13 ราย เพราะในจำนวนนี้อาจมีผู้ป่วยซ้ำรายกันก็ได้ โดยมีจำนวนผู้ป่วยเพียง 6.3 ล้านราย แต่ผู้นำไปเผยแพร่ไม่เข้าใจ และไม่ได้สอบถาม สนย.จึงใช้ตัวเลข 13 ล้านครั้ง มาคำนวณว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ 10% คือ 1.3 ล้านครั้ง เสียชีวิต 10% คือ 1.3 แสนครั้ง และสรุปว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตเกิดจากเหตุที่ป้องกันได้ คือ 65,000 ครั้ง
“ข้อสรุปของผู้ที่นำมาเผยแพร่มีความคลาดเคลื่อน โดยมีข้อสังเกตอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ 1.ข้อมูลที่แพทย์รายดังกล่าวนำมาใช้ในการรายงานการประชุมเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาล 2 แห่ง ไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ อีกทั้งข้อมูลของแพทย์รายนี้เป็นตัวเลขก่อนปี 2549 จะสรุปว่า เป็นตัวเลขปี 2549 ไม่ได้ 2.การนำตัวเลขมาคำนวณโดยใช้ตัวเลขผู้ป่วยใน 13 ล้านคน เป็นการคำนวณตัวเลขที่มีความคลาดเคลื่อนไปมาก เนื่องจากปี 2551 มีผู้ป่วยจำนวน 6.3 ล้านราย มีจำนวนโรค 13.4 ล้านรายโรค เพราะผู้ป่วย 1 คน อาจมีหลายโรค และ 3.การที่แพทย์คนดังกล่าวใช้คำว่า มีแนวทางการป้องกันได้ อาจหมายถึงเกิดจากตัวผู้ป่วยเองก็เป็นได้ ซึ่งอาจแตกต่างจากความผิดพลาดทางการแพทย์ตามที่ผู้เผยแพร่สรุปก็เป็นไปได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว