xs
xsm
sm
md
lg

“อู๊ดด้า” แจงรอ สปสช.ชงเรื่อง เหตุสิทธิคนไร้สถานะไม่เข้า ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“จุรินทร์” แจงเหตุให้สิทธิรักษาสุขภาพคนไร้สถานะยังไม่เข้า ครม.สัปดาห์นี้รอ สปสช.ชงเรื่อง แต่เชื่อผ่าน ครม.ได้แน่ เพราะไม่กระทบงบประมาณ และเป็นนโยบายรัฐบาล ขณะที่ สปสช.ชี้ใช้เวลาทำเหตุผลให้ชัดเจน ด้านอาจารย์นิติศาสตร์ มธ.มั่นใจสำนักงบฯ-สภาความมั่นคงไม่ค้านให้สิทธิคนไร้สถานะ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการให้สิทธิทางสุขภาพสำหรับบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะ ว่า สัปดาห์นี้ยังไม่สามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เนื่องจากต้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งต้นเรื่องที่มีรายละเอียดทั้งหมดก่อนที่จะลงนามและนำส่งให้เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา สำหรับประเด็นที่คาดว่าอาจจะมีการคัดค้านในขั้นตอนการเสนอต่อ ครม.นั้น
ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับเรื่องดังกล่าวเป็นการขออนุมัติใช้งบประมาณครึ่งปี และไม่ได้ของบประมาณเพิ่มแต่เป็นการขอทดลองใช้วงเงินของสปสช. ไม่ได้กระทบการใช้งบประมาณส่วนอื่น และถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้สิทธิกับประชาชน

“เป็นเรื่องปกติในการเสนอนโยบายต่อครม. อาจจะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคัดค้าน แต่บางกรณีแม้ว่าหน่วยงานจะค้าน แต่ครม.ก็มีความเห็นเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งเชื่อว่าในการเสนอความเห็นต่อ ครม.จะมีเหตุผลและรายละเอียดที่ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา” นายจุรินทร์กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดที่จะนำเสนอต่อครม.จะสามารถเสนอให้นายจุรินทร์ลงนามได้ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากต้องมีการปรับแก้รายละเอียดหลังจากการประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้เหตุผลและรายละเอียดมีความชัดเจนที่สุด ซึ่งการนำเสนอในครั้งนี้อ้างอิงจากมติ ครม.เมื่อปี 2548 ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอยุทศาสตร์ในการให้สิทธิพื้นฐาน ว่า ต้องสามารถให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยจัดสิทธิให้ตามสมควร ทำให้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการถูกคัดค้านเหมือนที่ผ่านมา

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการเสนอนโยบายดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้น คือ 1.ให้สิทธิครอบคลุมสำหรับประชาชนที่สามารถพิสูจน์ที่อยู่อาศัยได้ มีตัวตน มีชื่อ ที่อยู่ในทะเบียนราษฎรชัดเจน มีจำนวนแน่ชัด ไม่ใช่ตัวเลขประมาณการณ์ 2.การใช้งบประมาณนำมาจากกองทุนเอดส์ที่เหลืออยู่ ไม่ได้เป็นการของบประมาณก้อนใหม่ 3.งบประมาณที่ใช้จะแยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของคนไทยอย่างชัดเจน โดยตั้งขึ้นในลักษณะกองทุน ถือว่ามีรายละเอียดและเหตุผลที่ชัดเจนกว่าทุกครั้งที่นำเสนอ อีกทั้งฝ่ายการเมืองยังให้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างดี ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นการคืนสิทธิที่เคยมีให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิทธิรักษาพยาบาลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคนกฎหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้น กลุ่มคนที่รอการพิสูจน์สถานบุคคลที่รัฐบาลชี้ชัดแล้วว่าเป็นกลุ่มคนที่มีที่อาศัยถาวรจำนวน 4.7 แสนคน ไม่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ควรได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จึงไม่น่าจะคัดค้านการให้งบประมาณเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะแม้แต่สิทธิการศึกษาสำนักงบฯ ยังจัดสรรงบให้ทำให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ ซึ่งการที่มีข่าวออกมาว่าสำนักงบฯ และสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านนั้น ไม่มีเหตุผล ที่ผ่านมาการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เห็นด้วยตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนออาจต้องพิจารณาว่า สปสช.มีการบริการจัดการงบประมาณอย่างไร มีการนำไปใช้ในส่วนใดบ้างให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ได้ทำงานร่วมกับสำนักงบฯและสภาความมั่นคงฯ มาตลอดทุกคนก็เห็นด้วยกับการให้สิทธิคนกลุ่มนี้ ส่วนที่มีกระแสเรื่องคัดค้านอาจเป็นเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งในหน่วยงานที่ยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ไม่เชื่อว่า สำนักงบฯ จะคัดค้านเรื่องนี้ ซึ่งการที่กลุ่มคนไร้สถานะไม่ได้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป้นความผิดพลาดของสปสช.ที่มีการยึดสิทธิรักษาสุขภาพคืนทั้งๆ ที่เดิมมีสิทธิอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเป็นการทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากทำให้ถูกกฎหมายจะมีผู้คัดค้านได้อย่างไร” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น