สปสช.ฟันโรงพยาบาลเบิกค่ารักษาเกินจริง เรียกเงินส่วนเกินคืน-ปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่า ครั้งละไม่เกิน 1 แสนบาท หลังตรวจพบปี 50 เบิกเกิน 20% มูลค่าราว 30 ล้านบาท
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ประธานบอร์ด สปสช.) กล่าวว่า สถานบริการที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินความเป็นจริง แม้ไม่ได้กระทบกับ สปสช.โดยตรงแต่จะกระทบกับผู้ป่วยรายอื่นที่ใช้สิทธินี้ โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติจะตักเตือนสถานบริการไม่ให้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ถ้ายังไม่ปฏิบัติตามก็จะใช้มาตรการปรับเงินสถานบริการที่เบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในเกินความเป็นจริง ซึ่งหากสถานบริการใดไม่พอใจสามารถที่จะอุทธรณ์ และขั้นตอนสุดท้ายจะยื่นเรื่องให้แพทยสภาวินิจฉัยว่าการรักษาเป็นมาตรฐานหรือไม่
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2550 มีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงในสถานบริการสุขภาพที่รับรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งรัฐและเอกชน 50 แห่ง จำนวนผู้ป่วยใน 3,500 กรณี จากสถานบริการสุขภาพทั้งหมดกว่า 1 พันแห่ง จำนวนผู้ป่วยใน 5 ล้านกรณี พบว่า 20% มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในเกินความเป็นจริง มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท เช่น ผู้ป่วยในป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่มีการลงบันทึกรายงานการตรวจรักษาว่าเป็นไส้ติ่งแตก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในกรณีหลังจะได้รับการจัดสรรมากกว่ากรณีแรก และในทางกลับกันตรวจพบว่า10 % มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าการรักษาจริง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท
“งบประมาณของ สปสช.ในปี 2550 สำหรับจัดสรรเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในทั้งหมดกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งการที่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนบางแห่งมีการเบิกค่ารักษาเกินก็จะไปเบียดบังโรงพยาบาลอื่น ทำให้ได้รับการจัดสรรเงินไม่เป็นธรรมทั้งที่ผู้ป่วยในมีอาการลักษณะเดียวกัน โดยอาจคิดว่าทำเช่นนี้แล้วจะทำให้เงินในโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าเกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่ตั้งใจ และไม่ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากการลงบันทึกรายงานอาการผู้ป่วยจะต้องลงเป็นเลขรหัสซึ่งมีมากกว่า 1 แสนรหัส จึงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้”นพ.วินัยกล่าว
เลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา สปสช.มีการดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้เพียงแค่ตักเตือนและเรียกเงินคืน แต่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป จะใช้วิธีการปรับควบคู่กับการเรียกเงินคืน โดยจะเริ่มจากการตักเตือนและเรียกเงินคืน จากนั้นจะทำการปรับเงิน 1 เท่าของเงินที่เรียกคืน เช่น หากมีการเบิกเกิน 1 หมื่น จะเรียกคืน 1 หมื่นบาท และสถานบริการสุขภาพจะต้องเสียค่าปรับอีก 1 หมื่นบาท หากมีการตรวจพบว่ามีการกระทำซ้ำจะเรียกเก็บค่าปรับเพิ่มเป็น 2 เท่าของเงินที่เรียกคืน และหากมีการกระทำซ้ำอีกก็จะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เกิน 10 เท่า ครั้งละไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้สถานบริการตระหนักและระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้เกิดระบบที่เป็นธรรมและไม่ให้คนโกงได้ใจ