สธ.วิจัยความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คาด ส.ค.ปี 2552 รู้ผล นำมาใช้วางแผนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มอื่นในอนาคต
พญ.จงกล เลิศเธียรดำรง นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเริ่มต้นการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้น ไปจำนวน 2,000 คน ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของโรงพยาบาลในอุดรธานีและพิษณุโลก ใช้เวลาในการติดตามผล 1 ปี คาดว่า ส.ค.2552 จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เพื่อต้องการศึกษาความคุ้มค่าของการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ ซึ่งประเทสไทยไม่เคยมีข้อมูลในเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นหากสรุปผลงานวิจัยแล้วพบว่ามีความคุ้มค่า สปสช.ก็สามารถตัดสินใจขยายกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นได้ และเตรียมพร้อมกับการวางแผนการสั่งวัคซีนเพื่อใช้ในอนาคตได้
พญ.จงกล กล่าวว่า การศึกษานี้จะทำให้ทราบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยพิจารณาจากรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่ค่าเดินทางในการรับวัคซีน ค่าลางานและค่าใช้จ่ายของลูกหลานที่พาผู้สูงอายุมารับบริการ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ไปรับวัคซีน รวมถึงพิจารณาแง่ประสิทธิภาพของวัคซีนว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้หรือไม่ งานวิจัยนี้เป็นช่วงที่ไทยต้องสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งหากสร้างโรงงานเสร็จภายใน 5 ปี ก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าว ไปใช้ในการวางแผนผลิตในอนาคตวัคซีนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการและความคุ้มค่าของประเทศในอนาคต
“ขณะนี้มีผู้ป่วยที่มารักษาด้วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าปีละ 9 แสนครั้ง ในจำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาล 1.2-7.5 หมื่นราย โดยในกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นปี2551 จึงเป็นแรกที่สปสช.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนหลายล้านคน จึงเลือกฉีดให้เฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว” พญ.จงกล กล่าว
พญ.จงกล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากการศึกษาในฮ่องกงและสิงคโปร์พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีความคุ้มค่า เนื่องจากภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศฉีดให้กับวัยแรงงาน แต่ในส่วนของไทยอาจไม่คุ้มค่าหากฉีดให้กับวัยแรงงาน เนื่องจากวัยแรงงานของไทยค่าแรงไม่สูงเท่ากับสิงคโปร์และฮ่องกง จึงเสนอให้ฉีดเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในไทยเท่านั้น