บุคคลรอพิสูจน์สัญชาติ 4.5 แสนรายได้เฮ มติบอร์ดสปสช. เคาะงบให้สิทธิรักษาพยาบาล ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ เชื่อ ครม.ไฟเขียวอนุมัติ “จุรินทร์” มั่นใจข้อมูลเหตุผลความจำเป็นปึ้ก ไม่เบียดบังงบรักษาคนไทย ถมช่วยแก้ปัญหาโรงพยาบาลถังแตก ลดโรคระบาดชายแดน เลขาสปสช.ระบุเป็นกองทุนพิเศษไม่ได้รวมกับงบรายหัวคนไทย
วันที่ 25 ก.พ. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องการให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล
ว่าที่ประชุมมีมติให้สิทธิด้านสุขภาพแก่รอพิสูจน์สถานะบุคคลจำนวน 457,409 ราย โดยจัดตั้ง “กองทุนบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล” ซึ่งจะแบ่งบุคคลที่ได้รับสิทธิเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การรับรองให้อยู่ในประเทศไทยโดยถาวร 90,000 ราย 2.กลุ่มที่ ครม.ผ่อนผันให้อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอพิสูจน์สถานนะบุคคล โดยมีแนวโน้มว่าจะได้รับสัญชาติ 296,863 ราย และ 3.กลุ่มนักเรียนที่รับสิทธิการเรียนฟรี แต่ยังไม่ได้รับการบริการสาธารณสุข ซึ่งมีการจัดทำประวัติและขึ้นทะเบียนแล้ว 70,513 ราย โดยจะนำเสนอต่อที่ครม.ให้เร็วที่สุด คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้
“คนกลุ่มนี้เคยได้รับการดูแลสุขภาพจากรัฐบาลไทย เช่น บัตรประกันผู้มีรายได้น้อย หรือ บัตรประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง แต่ถูกยกเลิกเมื่อปี 2547 ซึ่งประชากรกลุ่มนี้จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะอาศัยอยู่ในภาคเหนือมากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนไทยตามแนวชายแดนอย่างน้อย 15 จังหวัด ที่จะไม่ถูกเบียดบังงบประมาณค่ารักษาที่จัดให้ และจะสามารถป้องกันควบคุมโรคที่พบว่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งท้องร่วงรุนแรง มาลาเรีย ไข้เลือดออก เอดส์ วัณโรค เป็นการช่วยแก้ปัญหาการเงินการคลังแก่โรงพยาบาลจำนวน 172 แห่ง” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การคำนวณงบประมาณรายหัวของคนกลุ่มดังกล่าว เป็นการประเมินตามโครงสร้างอายุ ที่พบว่าประชาชนกลุ่มนี้มีอายุสั้นกว่าคนไทย ทำให้ใช้งบประมาณในการรักษาน้อยกว่า โดยงบประมาณรายหัวจะอยู่ที่ 2,067.40 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งต้องใช้งบประมาณในครึ่งปีแรกประมาณ 472 ล้านบาท ทั้งนี้ การเสนอโครงการครั้งนี้ถือว่ามีความชัดเจนกว่าที่ผ่านมาอย่างมากเนื่องจากมีการพิจารณาทุกด้าน มีการนำตัวเลขกลุ่มผู้ไร้สถานะมาจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ประเมินค่าใช้จ่าย และประโยชน์ที่จะเกิดแก่คนไทย หากพิจารณาด้วยเหตุผลแล้วการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถลดภาระโรงพยาบาลในเขตชายแดนได้จำนวนมาก
“ที่ผ่านมาติดขัดที่บางหน่วยงานยังมีความเป็นห่วงอยู่ แต่พร้อมจะอธิบายให้เข้าใจว่ากรณีเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการคืนสิทธิให้กับประชาชนซึ่งเคยได้รับสิทธิบริการสุขภาพมาก่อนที่กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะออกน่าจะเป็นเหตุผลพอที่คณะรัฐมนตรีจะรับฟังและนำไปพิจารณาได้โดยเฉพาะหากในด้านสุขภาพจะสามารถลดปัญหาค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลได้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากได้รับการคลี่คลายอย่างเป็นรูปธรรมจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ต้องผลักดันให้เดินให้ได้” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตามกฎหมายได้กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนและต้องมีการตรวจสุขภาพ รวมถึงทำประกันสุขภาพทุกครั้งที่ต่ออายุทะเบียนแรงงาน ครั้งละ 1,900 บาท ทำให้ต้องเข้มงวดและรณรงค์ให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนได้ ก็จะช่วยลดภาระให้แก่โรงพยาบาลในเขตชายแดนได้มาก ซึ่งได้ประสานไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า รูปแบบของการจัดทำงบประมาณครั้งนี้เป็นการตั้งกองทุนพิเศษ ไม่เกี่ยวกับงบประมาณรายหัวปกติของคนไทย แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากัน ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวถือว่ามีรายชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร และสามารถพิสูจน์สิทธิการอยู่อาศัยได้ โดยจะมีการขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป ส่วนงบประมาณจะมีการอนุมัติตามจำนวนผู้ที่มาขึ้นทะเบียนและจ่ายให้เป็นงวดๆ โดยจะนำเงินหมุนเวียนของ สปสช.มาจัดสรร และจัดทำงบประมาณชดเชยในปี 2554