สธ.เผยปี 2550 ไทยต้องรักษาฟรีแรงงานต่างด้าวกว่า 155 ล้านบาท คาดปี 2551 มีแรงงานต่างด้าวกว่า 1.3 ล้านคน แต่ขึ้นทะเบียนเพียง 6 แสนคนเศษ เร่งระดมความร่วมมือผู้เกี่ยวข้อง พัฒนาการจัดบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าวในประเทศ เน้นการส่งเสริมให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพคนไทย และความมั่นคงของประเทศ
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการวิชาการระดับชาติ การบริการสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว ครั้งที่ 2 เรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาวะ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2551 โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน มหาดไทย การต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กทม. องค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน
นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงแรงงาน ในเดือนมีนาคม 2551 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนในระบบทั้งหมด 621,437 คน และคาดว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 700,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจ และวางแนวทางบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การกำกับดูแลประชากรต่างด้าวในประเทศไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และเกิดความมั่นคงของประเทศ
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการบริการสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าวนั้น สธ.ให้ความสำคัญทั้งแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนเท่าเทียมกัน โดยมุ่งเน้นให้มีการพัฒนานโยบายและการดำเนินงานที่สอดรับกับหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน จัดบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรคติดต่อต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพในชุมชนคนไทยและชุมชนแรงงานต่างด้าว โดยพัฒนาบริการที่เป็นมิตรกับแรงงานต่างด้าว และสนับสนุนการทำงานของพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการให้บริการต่างๆ ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการอบรมความรู้ด้านสุขภาพ เป็นที่ไว้วางใจของเพื่อนแรงงานด้วยกัน
นพ.วิศิษฐ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าวใน 30 จังหวัด ในปี 2550 พบว่าภาครัฐต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถึง 155 ล้านบาทเศษ โดยโรคติดต่อสำคัญที่พบ ได้แก่ อุจจาระร่วง วัณโรค เอดส์ ไข้เลือดออก และไข้มาลาเรีย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเร่งส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด เพื่อช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระด้านค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าถึงบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย ซึ่ง พสต. ที่มีอยู่ขณะนี้ 166 คน นับเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้การจัดบริการสุขภาพในแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาให้มี พสต. ในระบบสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การทำงานมีความยั่งยืนต่อไป