xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.โจมตี 16 นโยบายด่วนรัฐเหลว สับมุ่งปรองดองเพื่อ “ทักษิณ” วอนแก้ปากท้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ร่ายยาวความล้มเหลว 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลปู ปรองดองมุ่งช่วยเหลือ “ทักษิณ” มากกว่าประเทศชาติ แก้ปัญหาภัยธรรมชาติล้มเหลวทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เหตุไฟใต้พุ่ง ราคาสินค้าแพงแถมถังแตกกับนโยบายประชานิยม ขึ้นแวตร้อยละ 1 ซัดเก็บเงินบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคมุ่งประโยชน์ทางการเมือง วอนรัฐบาลดูแลปากท้องประชาชน

วันนี้ (29 เม.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงการประเมิน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลว่า ล้ม้เหลวทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องของการสร้างความปรองดองที่อ้างกระบวนการของ กมธ.ปรองดอง เป็นผลงาน ทั้งที่มีการบิดเบือนรายงานของสถาบันพระปกเกล้า และ คอป.มุ่งปรองดองเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ กลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งใหม่ ปัญหาเรื่องของยาเสพติดเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เฉลี่ยเดือนละ 60 คดี ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เฉลี่ยเดือนละ 55 คดี นอกจากนี้ รัฐบาลอ้างว่ามีการป้องกันการทุจริตเป็นที่น่าพอใจ 55% ทั้งที่มีการทุจริตเงินน้ำท่วม หักค่าหัวคิวร้อยละ 35 เงินเยียวยาใต้ร้อยละ 20 และปกปิดข้อมูลการประเมินโครงการ ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน

นายชวนนท์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้หยิบยกเรื่องการป้องก้นภัยแล้งและน้ำท่วมมาเป็นผลงาน ทั้งที่ภัยแล้งลุกลาม 48 จังหวัด การแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ทันในหน้านี้ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการ 24 โครงการหลัก มีความคืบหน้าเพียง 2 โครงการร้อยละ 5-10 นอกนั้นไม่มีความคืบหน้าเลย ขณะที่ปัญหาภาคใต้ใน 8 เดือนหลังของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดเหตุไม่สงบ 517 ครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบ 537 ราย ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเหตุไม่สงบ 631 ครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบ 1,461 ราย สำหรับการที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่าประสบความสำเร็จในเรื่องการค้าการลงทุนก็ไม่เป็นความจริง เพราะมูลค่าการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 55 ลดลงกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่าสินค้าไม่แพงแต่ขึ้นตามกลไกตลาด ทั้งๆ ที่เกิดจากนโยายผิดพลาดด้านพลังงานของรัฐบาล ทำให้ราคาสินค้าทุกชนิดเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการขนส่ง ส่วนการยกระดับคุณภาพชีวิตมีผู้ว่างงานเพิ่ม 5 หมื่นคนจากช่วงก่อนการยุบสภาในปี 2554 และการลดภาษีนิติบุคคลร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 และร้อยละ 20 ในปีหน้า ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนรวยไม่ได้ช่วยเหลือคนจน ล่าสุด นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.มีแนวคิดที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1 เพราะรัฐบาลถังแตก และยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับนโยบายประชานิยมที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ลดภาษีนิติบุคคลรัฐบาลก็มีเงินเพียงพอในการบริหารแผ่นดิน แต่เมื่อรัฐบาลมุ่งที่จะดูแลคนรวยรังแกคนจนจึงมีแนวคิดเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1

อีกด้านหนึ่งยังมีการเลือกปฏิบัติในการจัดทำโครงการกองทุนสตรี กองทุนเอสเอ็มอี โดยมีข่าวว่ามีการล็อกตำแหน่งประธานกองทุนสตรีให้แก่คนที่สนับสนุนรัฐบาลไว้แล้ว ในขณะที่การยกระดับสินค้าเกษตรก็ล้มเหลวเพราะสินค้าเกษตรแทบทุกชนิดตกต่ำลงตั้งแต่ มันสำปะหลังที่ตกจาก 3.30 บาทในรัฐบาลอภิสิทธิ์ มาเป็น 1.80 บาท ยางพาราเหลือเพียงแค่กิโลกรัมละ 70 บาท เช่นเดียวกับการจำนำข้าวที่ทำให้ยอดส่งออกข้าวไทย 4 เดือนแรก ลดลงร้อยละ 46 ประเทศขาดรายได้ 18,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่กล่าวอ้างว่าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนจาก 15 ล้านคนเป็น 30 ล้านคนนั้น เป็นเพียงแค่ราคาคุยเพราะที่ผ่านมารัฐบาลประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงผิดพลาดโดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายจนมี 18 ประเทศ ประกาศเตือนภัยการก่อการร้ายและขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปในทางคดีว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่สุขุมวิท 71 เป็นเรื่องของฝรั่งตีกันหรือเด็กช่างกลอิหร่าน การประเมินสถานการณ์ผิดพลาดย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย

นายชวนนท์กล่าวด้วยว่า การรื้อฟื้นโอทอปให้ประชาชนกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้นก็ล้มเหลว เพราะยอดขายสินค้าโอทอปลดลงจากเดือนละ 5-6 พันล้านบาทในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เหลือเพียง 700 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2555 นอกจากนี้ การหยิบยกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาเป็นผลงาน ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลคำนึงถึงแต่ประโยชน์ทางการเมือง ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องหมายทางการค้า แทนที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้เก็บเงินประชาชนแล้วโดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวก็รักษาฟรีทุกโรค ขณะเดียวกันการจัดซื้อแท็บเล็ตมีปัญหาทำไม่ทันในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนเรื่องของการเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญทำได้มีความพยายามเร่งรัดใช้พวกมากลากไปล็อกสเปก ส.ส.ร.เพื่อประโยขน์ทางการเมืองไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชน

“จึงขอเรียกร้องรัฐบาลให้กลับมาดูแลปากท้องประชาชน แก้ปัญหาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมเกษตรกรอยู่ได้ และขอให้รัฐบาลดูแลค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันแรงงาน อย่าให้นโยบายค่าแรงเกิดผลกระทบทั่วประเทศ และแนะนำให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันไดตามนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอ ซึ่งจะไม่ช็อดเศรษฐกิจ ไม่กระทบนายจ้าง ไม่กดดันภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งขอให้ตรึงราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี เพื่อลดภาระให้ประชาชนด้วย” นายชวนนท์กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น