xs
xsm
sm
md
lg

“ขี้เมาทำพัง” ศูนย์วิจัยปัญหาสุราชี้ ปัจจัยสำคัญ เหตุจลาจล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ชี้เหตุจลาจล แฟนบอลเมืองทองฯ ปะทะ การท่าเรือไทย เพราะขี้เมาเข้าสนาม จี้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ม อย่าเมินมาตรการห้ามดื่ม แนะ 4 ข้อ แก้ปัญหาห้ามจำหน่ายใน-นอกสนามแข่ง ห้ามดื่มขณะชมฟุตบอล รู้ตัวว่าเมาอย่าริเข้าชม เพิ่มระบบตรวจอาวุธ ติดกล้องวงจรปิด

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวถึงกรณีความวุ่นวายที่แฟนบอลสโมสรท่าเรือกับเมืองทองยูไนเต็ด ตะลุมบอน เนื่องจากไม่พอใจผลการแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงถ้วยพระราชทาน ก ที่สนามศุภชลาศัย ว่า จากเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว ฝ่ายจัดการแข่งขันไทยลีก และสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย คงทำได้เพียงลงโทษทีมต่างๆ ในรูปแบบของค่าปรับ ปรับให้แพ้ หรือย้ายสนามแข่งเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาได้ 100% จนทำให้มองข้ามมาตรการป้องกันแฟนบอลที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้าชมการแข่งขัน

นพ.ทักษพล กล่าวว่า แฟนบอลที่เข้ามาชมการแข่งขันจะเห็นว่ามีความคึกคะนอง สาเหตุมาจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้าชมการแข่งขัน และระหว่างชมการแข่งขัน โดยนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แฝงเข้ามาในรูปแบบถุงพลาสติก หรือใส่มาในกระติกน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณด้านหน้าสนามแข่ง มีร้านค้าแผงลอยขายเหล้า เบียร์ เป็นจำนวนมาก มีการดื่มอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่มีมาตรการควบคุมหรือห้ามปรามตรงจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยการตรวจจับกรณีห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ และในสนามการแข่งขันกีฬา

นพ.ทักษพล กล่าวว่า ศวส. ขอเสนอมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาปรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอล ได้แก่ 1. ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณรอบสนามและในสนามก่อนการแข่งขัน 3 ชั่วโมง และต่อเนื่องไปจนถึงหลังการแข่งขันเสร็จ 1 ชั่วโมง หากไม่มีกรณีความรุนแรงใดๆ 2. ห้ามนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าสนามฟุตบอล และห้ามดื่มขณะชมฟุตบอล 3.ห้ามผู้ที่มีอาการเมาเข้าสนามฟุตบอล และ 4.เพิ่มระบบตรวจอาวุธ และการเฝ้าระวังพฤติกรรมของแฟนบอล โดยมีเจ้าหน้าที่และกล้องวงจรปิด ทั้งนี้หากมีมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสนามฟุตบอลด้วยจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะควันบุหรี่ถือว่าทำลายสุขภาพ

“การควบคุมการเข้าถึงสุรา เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูง ในการลดปัญหา เพราะการห้ามจำหน่ายสุรารอบบริเวณสนามและในสนาม รวมทั้งห้ามดื่มในสนาม พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดความรุนแรง ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลได้ และที่สำคัญมาตรการนี้ควรทำควบคู่ไปกับการห้ามคนเมาเข้าสนามด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากมาตรการนี้มีผลบังคับใช้เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีการแข่งขันฟุตบอลระดับโลก อาทิ อิตาลี รัสเซีย และบราซิล เพื่อป้องกันนักฟุตบอล กรรมการ และกองเชียร์ ให้มีความปลอดภัย” นพ.ทักษพล กล่าว

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ สตช. ระดมตำรวจทั่วประเทศร่วมสัมมนาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน “ผู้ช่วย ผบ.ตร.”เตรียมผลักแผน 5 ปี หลังไทยเสียชีวิต 12,000 คนต่อปี พุ่งอันดับ 6 ของโลก นักวิชาการยกสถิติต่างประเทศ บังคับใช้กฎหมายเข้มลดการตายจริง

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.53 ที่โรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน มีการจัดสัมมนาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจราจารเพื่อลดอุบัติทางถนน จัดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวเปิดงาน ว่า สหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศปฏิญญามอสโคว เพื่อลดอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี ซึ่งในส่วนของไทยปัญหาการเกิดอุบัติเหตุได้สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจชาติกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นในปีนี้จึงได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารงานด้านจราจร ระยะ 3-5 ปี มุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุ โดยจะทำเรื่องขอเพิ่มงบประมาณด้านงานจราจรจากรัฐบาล เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้จะมีการปรับการทำงานใหม่ โดยจะจัดตั้งทีมสอบสวนอุบัติเหตุ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ครั้ง

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงกันอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษนั้น พบว่า ในปี 2550 ไทยมีผู้เสียชีวิต 12,000 คน ฝรั่งเศส 4,600 คน อังกฤษ 3,200 คน ขณะที่รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2008 มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพียง 300 กว่าคน เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมาก และมีกำลังตำรวจจราจร 3,000 นายหรือประมาณร้อยละ 20 ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยมีตำรวจรวจจราจรเพียงร้อยละ 5 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด

ศ.ดร.พิชัย ธานีรนานนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า เสาหลักของความปลอดภัยบนท้องถนน เริ่มตั้งแต่ระดับวิศวกรรมของรถและถนนที่ปลอดภัย การเรียนรู้การขับขี่ที่ครบถ้วน ซึ่งในหลายประเทศการออกใบอนุญาตขับขี่กำหนดให้ต้องเข้าอบรมอย่างต่ำ 150 ชั่วโมง และมีใบอนุญาตชั่วคราวหลายระดับก่อนจะได้ใบขับขี่จริง ใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ท้ายที่สุดคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งนิตยสารเดอะ แลนด์เซ็ท (The Landcet) วารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระบุโดยอ้างอิงสถิติประเทศแคนาดาเมื่อปี 2003 ว่า การบังคับใช้กฎหมายทำให้การตายลดลง คนถูกจับครั้งหนึ่งมีโอกาสรอดชีวิตจากอุบัติเหตุถึงร้อยละ 35 เพราะเริ่มมีการปรับพฤติกรรมเสี่ยง นอกจากนี้ยังชี้แนะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชนในทุกครั้งที่มีการจับกุม รวมทั้งใช้เครื่องมือที่ทันสมัยช่วยในการทำงานควบคู่ไปด้วย

ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ขาดประสิทธิภาพ มีทั้งปัญหาเรื่องงบประมาณที่น้อยนิด ขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน การบริหารงานในหน่วยงานขาดประสิทธิภาพ จึงควรเพิ่มประสิทธิภาพและปรับภาพลักษณ์ของตำรวจ ตั้งแต่ระดับสถานีตำรวจ โดยต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมอุปถัมภ์ในองค์กรตำรวจ เพราะทำให้ตำรวจที่ดีทำงานยากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงงบประมาณให้เพียงพอ ไม่ควรมีการโยกย้ายบ่อยเกินไป เพราะทำให้การทำงานติดขัด ไม่ต่อเนื่อง

นายสมพร สืบถวิลกุล จากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 6 ของโลก อย่างไรก็ตาม หลังจากมี พ.ร.บ.หมวกนิรภัย สถิติการเสียชีวิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบความสำเร็จเรื่องการบังคับใช้หมวกกันน็อก ได้แก่ เวียดนาม จากที่เคยสวมหมวกกันน็อกไม่ถึงร้อยละ 1 กลายเป็นร้อยละ 98 ในปัจจุบัน นอกจากนี้สถิติอุบัติเหตุยังพบว่า มอเตอร์ไซด์เป็นเพชรฆาตอันดับหนึ่งบนท้องถนน อุบัติเหตุร้อยละ 70 มักมีมอเตอร์ไซด์เกี่ยวข้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น