xs
xsm
sm
md
lg

84% ผู้สูงอายุเป็นโรคปริทันต์ เสี่ยงเสียฟันทั้งปาก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมอนามัยเร่งส่งเสริมผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ดึงชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ 19 จังหวัดอีสานร่วมดำเนินการ หวังแก้ปัญหาการสูญเสียฟันในผู้สูงวัย เผยพบผู้สูงอายุเป็นโรคปริทันต์ สูงถึงร้อยละ 84 และมีรากฟันผุ ร้อยละ 21 ทำให้แนวโน้มการสูญเสียฟันเพิ่มมากขึ้น


วันนี้ (17 ก.พ.) นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมวีวัน จังหวัดนครราชสีมา ว่า จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุประมาณ 7.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.8 ในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด การเตรียมความพร้อมของการจัดบริการในด้านต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ กรมอนามัยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะจากผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของประเทศไทยครั้งที่ 6 ปี 2550 พบว่าประชากรผู้สูงอายุไม่มีฟัน ในช่องปาก และมีปัญหาด้านการบดเคี้ยวอาหารสูง ต้องการฟันเทียมทั้งปากประมาณ 250,000 คน

นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงได้จัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทันตแพทย์ทั่วประเทศจัดการบริการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุ ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ได้รับบริการไปแล้วกว่า 160,000 คน โดยผู้สูงอายุภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับฟันเทียมพระราชทานถึง 50,000 คน หรือเฉลี่ยปีละ 10,000 คน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจในปี 2550 ยังพบว่ามีผู้สูงอายุเป็นโรคปริทันต์สูงถึงร้อยละ 84 และมีรากฟันผุร้อยละ 21 ทำให้แนวโน้มการสูญเสียฟันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการให้บริการใส่ฟันเทียมเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุได้ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง โดยกรมอนามัยส่งเสริมให้แกนนำชมรมผู้สูงอายุเป็นผู้จัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีบุคลากรภาครัฐทั้งบุคลากรสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน

“ขณะนี้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชมรมผู้สูงอายุต้นแบบด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ช่องปากในพื้นที่เขต 5 เขต 6 และเขต 7 รวม 6 จังหวัดจาก 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบบริการป้องกันในพื้นที่ต้นแบบ 8 จังหวัด และการค้นหา 10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี ที่เป็นแบบอย่างของผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยกว่า 80 ปี ในพื้นที่ 13 จังหวัด

สำหรับในปี 2553 นี้ กรมอนามัยมีเป้าหมายให้ชมรมผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่เป็นต้นแบบของจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชมรม และขยายเป็นอำเภอละ 1 ชมรมในปี 2554” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น