xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยรอบ 12 ปี ชี้ เด็กไทยไอคิวต่ำ-อ้วน เตี้ย แถมเบาหวานพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เฉลี่ยเด็กไทยไอคิวยังต่ำ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยองค์การอนามัยโลก ต่ำกว่าชาติพัฒนาแล้ว แถมอ้วน เตี้ย เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายพุ่ง

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ ปี 2540-2552 เด็กไทยมีระดับเชาว์ปัญญา และพัฒนาการสมวัยต่ำลง โดยค่าเฉลี่ยลดลงจาก 91 เหลือ 88 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 90 - 110 และยังต่ำกว่าระดับ 104 ซึ่งเป็นระดับเชาว์ปัญญาของเด็กๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเมื่อแยกตามอายุ พบว่า เด็กอายุ 0 - 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 72 เหลือเพียง ร้อยละ 67 และเด็กทารกอายุ 6 - 12 เดือน ร้อยละ 45 ได้รับอาหารไม่เหมาะสมตามวัย นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยระบุว่า เด็กวัยก่อนเรียนและเด็กวัยเรียนติดอาหารรสหวาน มัน เค็ม โดยในรอบ 3 ปี พ.ศ. 2547 – 2550 เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมเป็นประจำ เพิ่มขึ้นถึง 1.8 และ 1.5 เท่าตามลำดับ และเด็กวัยเรียนกินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนโต๊ะ ทั้งๆที่ระดับที่เหมาะสมคือ ไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ช้อนโต๊ะ

“ที่น่าตกใจคือ เด็กไทยซื้อขนมกินเฉลี่ย คนละ 9,800 บาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเพียงคนละ 3,024 บาทต่อปี พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้เด็กไทยมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกิน โดยกรมอนามัยคาดว่าในปี 2558 จะมีเด็กอ้วนสูงถึง 1 ใน 5 ของเด็กวัยก่อนเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กวัยเรียน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด” นพ.สมยศกล่าว

ด้าน นพ. ณรงค์ สายวงศ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยชี้แจ้งว่า ผลการศึกษาพบว่าเด็กที่ขาดสารอาหารมีรูปร่างเตี้ยแคระแกร็น เมื่อโตขึ้นจนถึงอายุ 8 – 10 ปีจะมีสติปัญญา และผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่ไม่เตี้ยแคระแกร็น เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีระดับสติปัญญาต่ำและมีความสามารถในการสร้างรายได้น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเหมาะสมตามวัย นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาทุพโภชนาการในเด็กมีผลให้รายได้ของประเทศลดลงถึงร้อยละ 2 – 3 โดยผลการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานในสถานพยาบาล 11 แห่ง พบว่าเด็กและวัยรุ่นป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น จากร้อยละ 2 ในปี พ.ศ. 2542 เพิ่มเป็นร้อยละ 18 ในปี พ.ศ. 2547 ทำให้ประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยในปี พ.ศ. 2548 ค่ารักษาพยาบาลของโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมกันเพียงสามโรคสูงถึงกว่า 70,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น