xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกหนังสือ “ตั้งไข่ล้ม” แจก 3 ล้านเล่ม แก้ปัญหาเด็กไทยไอคิวต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.จัดพิมพ์หนังสือเล่มแรกของชีวิต เลือกนิทาน “ตั้งไข่ล้ม” แจก 3 ล้านเล่ม เป็นของขวัญปีใหม่แก่เด็กไทย 800,000 คน ที่เกิดวันที่ 9 ธันวาคม 2552 - 9 ธันวาคม 2553 แก้ไขปัญหาเด็กไทยมีพัฒนาการช้า ไอคิวด้อย ให้พ่อแม่ใช้อ่านกับลูก ชี้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากอังกฤษ ญี่ปุ่น ที่เริ่มแจกหนังสือเล่มแรก ผลการศึกษาพบ เด็กฉลาด พัฒนาการอ่าน คิด เขียน สูงกว่าเด็กทั่วไป แถมชอบอ่านมากกว่า 3 เท่าตัว

วันที่ 8 ธันวาคม ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว โครงการเด็กไทยฉลาดด้วยหนังสือเล่มแรก พร้อมมอบชุดของขวัญตัวอย่าง ให้เด็กที่คลอดวันที่ 7-8 ธันวาคม 2552 ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 50 คน เป็นของขวัญปีใหม่

นายวิทยากล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดสรรงบประมาณ 30 ล้านบาท จัดพิมพ์หนังสือเล่มแรกของชีวิต หรือบุ๊กสตาร์ท (bookstart) ชื่อว่า “ตั้งไข่ล้ม” ซึ่งเป็นหนังสือนิทานมีภาพประกอบบทคำร้องเล่น มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่เด็กไทยที่เกิดระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2552 - 9 ธันวาคม 2553 รวมประมาณ 8 แสนคนทั่วประเทศ โดยจะให้ อสม.กว่า 970,000 คนทั่วประเทศ นำไปมอบให้ถึงบ้านระหว่างติดตามเยี่ยมบ้าน ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด พร้อมแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป

“จากผลการสำรวจพัฒนาการเด็ก ล่าสุดในปี 2550 พบว่า เด็กอายุ 1-5 ปี มีพัฒนาการไม่สมกับอายุถึงร้อยละ 30 ที่พบมากคือเด็กเริ่มพูดช้ากว่าอายุ ไม่เข้าใจภาษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า ระดับไอคิวด้อยไปลงด้วย การส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟังซ้ำๆ เริ่มตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยให้สมองเด็กเกิดการเรียนรู้ภาษา คำต่างๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ส่งเสริมความฉลาดทั้งทางสติปัญญาและทางอารมณ์ให้เด็กไทยอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ” นายวิทยากล่าว

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในโลกรองจากอังกฤษและญี่ปุ่น ที่จัดทำโครงการหนังสือบุ๊กสตาร์ทแจกให้เด็กแรกเกิดทุกคน ใช้เป็นสื่อเพื่อให้พ่อแม่ได้ใช้กับลูก ผลการศึกษาของอังกฤษพบว่า เด็กที่อยู่ในโครงการเมื่อเข้าเรียนระดับประถมศึกษา จะมีความสามารถในการอ่านเขียน การคิดคำนวณสูงกว่าเด็กทั่วไปอย่างชัดเจน และใส่ใจการอ่านหนังสือสูงกว่าเด็กนอกโครงการถึง 3 เท่าตัว

สำหรับหนังสือตั้งไข่ล้มที่จัดพิมพ์ครั้งนี้ มี 3 ฉบับใช้กับเด็ก 3 วัย คือ วัยแรกเกิด วัย 6 เดือน และวัย 1 ปี แต่ละฉบับจะมีภาพและเนื้อหาเหมาะสมกับการกระตุ้นพัฒนาการเด็กตามวัย พิมพ์ฉบับละ 1 ล้านเล่ม ดังนั้น เด็ก 1 คนจะได้รับหนังสือคนละ 3 เล่ม ขณะนี้ได้จัดส่งหนังสือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และกทม. เพื่อส่งต่อให้อสม. นำไปมอบแก่ครอบครัวเด็กแรกเกิดที่อยู่ในความดูแลคนละ 10-15 หลังคาเรือนต่อไป

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับเด็กที่เกิดวันที่ 9 ธันวาคม 2552 วันแรกที่เริ่มโครงการ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 2,000 คน โรงพยาบาลทุกแห่งจะมอบของขวัญก่อนกลับบ้านให้ 1 ชุด ประกอบด้วยหนังสือ “ตั้งไข่ล้ม” 1 เล่ม ของเล่นเด็กแบบเขย่ามีเสียงกรุ๊งกริ๊ง 1 ชิ้น เพื่อให้พ่อแม่ไว้เล่นกับลูก กระตุ้นประสาทสัมผัส การได้ยินเสียง และการใช้สายตาของเด็ก พร้อมหนังสือนิทานอีสป 1 เล่มให้พ่อแม่เล่าให้ลูกฟังเมื่อลูกโตขึ้น ส่วนเด็กที่เกิดวันที่ 10 ธันวาคม 2552 - 9 ธันวาคม 2553 จะได้รับหนังสือ “ตั้งไข่ล้ม” คนละ 1 เล่ม โดยเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด จะให้อสม.นำไปมอบเมื่อไปเยี่ยมหลังคลอดที่บ้าน ส่วนเด็กที่เกิดในกรุงเทพมหานคร จะได้รับจากโรงพยาบาลก่อนกลับบ้านทุกคน

ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หนังสือ “ตั้งไข่ล้ม” เป็นหนึ่งในหนังสือในโครงการหนังสือเล่มแรกของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งสธ.ได้รับอนุญาตจากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เจ้าของลิขสิทธิ์ให้จัดพิมพ์ มีทั้งหมด 12 เรื่อง ได้แก่ ไก่กุ๊กกุ๊กไก่ ตั้งไข่ล้ม นกเอี้ยง ปลาตัวเล็ก ค้างคาว จับปูดำ จ้ำจี้ผลไม้ โยกเยก แมงมุม มดแดง จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า และเจ้าเนื้ออ่อนเอย โดยกรมอนามัยได้ประเมินผลโครงการหนังสือเล่มแรก ซึ่งนำแนวคิดมาจากโครงการต้นแบบจากประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น ร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสสส. ซึ่งได้มอบหนังสือเล่มแรกให้พ่อแม่ 106 ครอบครัว เมื่อ พ.ศ.2547 นำไปใช้กับลูกเริ่มตั้งแต่อายุ 6-9 เดือน และส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปี จนถึงพ.ศ. 2552

นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า ผลการประเมิน พบว่า การอ่านหนังสือเล่มแรกมีผลต่อพัฒนาการเด็ก ช่วยให้เด็กฉลาดมากขึ้น เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการทุกด้าน ทั้งด้านความคิด ด้านภาษา และการสื่อความหมาย สุขภาวะทางกายและการเคลื่อนไหว ด้านพฤติกรรม อารมณ์ จริยธรรม ด้านความเข้าใจ และศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ อยู่ระหว่างร้อยละ 93-98 ส่วนเด็กที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจะอยู่ระหว่างร้อยละ 67-87 เช่น พัฒนาการด้านความคิดและสติปัญญาด้านความจำ เด็กในโครงการมีความสามารถสูงถึงร้อยละ 96 ขณะที่เด็กทั่วไปมีร้อยละ 54 ด้านการเขียนก็เช่นกันเด็กในโครงการมีความสามารถร้อยละ 88 ขณะที่เด็กทั่วไปมีร้อยละ 52 ส่วนการคิดด้านคณิตศาสตร์ เด็กในโครงการทำได้ร้อยละ 84 เด็กทั่วไปทำได้ร้อยละ 62

“สำหรับเทคนิคการอ่านหนังสือตั้งไข่ล้ม ระหว่างอ่านควรปิดโทรทัศน์ ให้พ่อหรือแม่อุ้มลูกนั่งตัก เวลาอ่านหรือเล่านิทานให้ออกเสียงสูงๆ ต่ำๆ ทำเสียงเล็กเสียงน้อย เน้นเสียง เน้นคำ เพื่อกระตุ้นให้ลูกเกิดความสนใจ พร้อมชี้ชวนให้เด็กดูรูปภาพ กอด สัมผัส หยอกเย้าและเคลื่อนไหวร่างกาย และให้ลูกช่วยเปิดหนังสือไปด้วย เพื่อที่เด็กจะได้สังเกตและจดจำวิธีการเปิดหนังสืออ่านว่าจะพลิกจากขวาไปซ้าย โดยพ่อแม่สามารถใช้ร้องเล่นกับลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด และควรอ่านหนังสือทุกวัน อย่างน้อยวันละ 5-15 นาที” นพ.สมยศกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น