xs
xsm
sm
md
lg

พม.มึน! ไม่พบเด็กขึ้นทะเบียน 18 คนอยู่กินบ้านครูน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาสังคมฯ ชี้ไม่พบเด็ก 18 คนอยู่กินบ้านครูน้อย-ขึ้นทะเบียนกับ พม. ระบุเกินวัยที่จะจดทะเบียนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก เชื่อมีแต่เด็กมาแบมือขอเงินอย่างเดียว เตรียมส่งทีมพูดคุยผู้ปกครองรับเลี้ยงดูต่อที่สถานสงเคราะห์ 15 ก.พ.นี้

วันนี้ (12 ก.พ.) นางญาณี เลิศไกร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมฯ เข้าไปตรวจสอบประวัติเด็กที่นางนวลน้อย ทิมกุล หรือครูน้อย ผู้ก่อตั้งบ้านครูน้อย สถานช่วยเหลือเด็กยากไร้ ให้การเลี้ยงดูและสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ครูน้อยระบุว่ามี 72 คน โดยในจำนวนนี้ 18 คนอยู่กินในบ้านและเป็นเด็กบ้านครูน้อยที่ขึ้นทะเบียนกับ พม.นั้น ปรากฏว่าไม่มีเด็กรายใดที่กินนอนอยู่บ้านครูน้อย เด็ก 18 คนที่ว่าน่าจะเป็นเด็กที่เกินวัยที่ครูน้อยจดทะเบียนเป็นสถานเลี้ยงเด็กอายุ 0-6 ขวบ

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับครูน้อยและเด็กในความอุปการะเบื้องต้น พบว่า เป็นเด็กวัยอนุบาล 5 คน ได้รับเงินจากครูน้อยวันละ 10 บาท เด็กประถมศึกษาปีที่ 1-2 จำนวน 21 คนได้คนละ 15 บาทต่อวัน เด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 จำนวน 21 คน ได้คนละ 70 บาทต่อวัน อาชีวะศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จนถึงอุดมศึกษามี 8 คนได้คนละ 70-100 บาทต่อวัน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 1 คน และเด็กพิการอีก 8 คน ที่ครูน้อยช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้กับพ่อแม่เป็นค่ารถ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษ จ.สุพรรณบุรี รวมถึงให้เครื่องอุปโภคบริโภคจากผู้ที่บริจาคมา รวมเด็กทั้งสิ้น 64 คน ส่วนที่ครูน้อยระบุว่ามี 72 คนนั้นอาจจะเป็นส่วนที่เข้ามารับการช่วยเหลือระยะหลังซึ่งส่วนมากเป็นระดับประถมศึกษา

นางญาณี กล่าวด้วยว่า เท่าที่เจ้าหน้าที่ไปสำรวจพบว่าเด็กทุกคนมีครอบครัว บางรายแม้ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่ก็อยู่กับป้าหรือยาย และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน พ่อแม่มีรายได้ทางหนึ่ง และได้จากครูน้อยจุนเจืออีกทาง เท่าที่สอบถามความคิดเห็นแนวโน้มไม่มีใครอยากมาอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ พม. อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 ก.พ.นี้เจ้าหน้าที่จะลงไปพูดคุยกับเด็กบางส่วนที่ยังไม่ได้พูดคุยรวมถึงพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กด้วย และทำความเข้าใจถึงการเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ว่าไม่ใช่เป็นการตัดขาดจากครอบครัว เพราะสามารถไปมาหาสู่กันได้ตลอดเวลา และจะได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ดี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสมัครใจของครอบครัวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น