“สมพงษ์” การันตี “ครูน้อย” จิตใจดี เปรียบเป็นแม่พระของเด็กๆ ระบุพวกเหลือบรอบข้างสร้างปัญหาสูบเงินจนก่อหนี้ เงินได้มาก็จ่ายไปวันๆ ไร้ระบบบริหารจัดการ แนะตั้งเป็นมูลนิธิ มีระบบคัดกรองเด็กไร้ที่พึ่ง ไร้โอกาสจริงๆ เสนอดึง “พล.ต.ท.พงศพัศ” นั่งประธานมูลนิธิ ด้าน “อิสสระ” รับ พม.พร้อมดูแลเด็กต่อ
วันนี้(9 ก.พ.) รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาหนี้นอกระบบของ นางนวลน้อย ทิมกุล หรือ ครูน้อย ผู้ก่อตั้งบ้านครูน้อย สถานช่วยเหลือเด็กยากไร้ ว่า ตนได้พูดคุยถึงปัญหาครูน้อยกับนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เพื่อหาช่องทางช่วยเหลือครูน้อย ตนรู้จักครูน้อยมานาน การันตีว่าครูน้อยเป็นคนดีมีจิตใจอ่อนโยนชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นแม่พระ แม่ของเด็ก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากการไม่มีระบบบริหารการเงินที่ดี ไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่มีการติดตามตรวจสอบตามระบบธรรมาภิบาล
“เงินเข้ามาก็จ่ายออกไปวันๆ ไม่มีการควบคุมและวางแผนถึงอนาคต ทำให้มีจุดรั่วไหลโดยที่ครูน้อยไม่รู้ และอาจจะมีคนรอบข้างหรือเหลือบเข้ามาหากินกับความใจดีของครูน้อย เท่าที่ทราบเด็กที่อยู่ในความดูแลของครูน้อยจำนวน 72 คน เป็นเด็กที่อยู่ในความดูแลอุปการะเพราะเป็นเด็กกำพร้าจริงๆ เพียง 18 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นเด็กในชุมชนมีพ่อแม่ แต่เข้ามากินข้าว เข้าแถวขอเงินไปโรงเรียนทุกวันๆ ละ 50-100 บาท ในจำนวนนี้เท่าที่ทราบบางรายไม่ได้ยากจนจริง แต่เพราะครูน้อยใจดีเป็นผู้ให้เสมอโดยไม่มีการคัดกรอง จึงอาศัยช่องทางคดโกงสูบเงินจากครูน้อย ซึ่งหากมีการคัดกรองที่ดีเชื่อว่าจะมีเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือไม่เกิน 40 คน” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า การที่ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้เพื่อผ่อนปรนหนี้สินครูน้อยที่มีถึง 8 ล้านบาท รวมถึงเวลานี้มีกระแสการบริจาคความช่วยเหลือครูน้อยนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การปลดหนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาวควรจะผลักดันให้บ้านครูน้อยจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการ จะทำให้มีความเป็นระบบมากขึ้น และมีระบบคัดกรองที่สามารถช่วยเหลือเด็กไร้ที่พึ่ง เด็กด้อยโอกาสอย่างแท้จริง และเชื่อว่าหลายคนที่มีจิตใจดีอยากเข้าไปช่วยเหลือครูน้อยอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะให้พล.ต.ท.พงศพัศ เป็นประธานมูลนิธิก็ได้ และอยากฝากให้คนรอบข้างได้คิดถึงครูน้อยให้มากกว่านี้ เพราะครูน้อยเริ่มมีอายุมากขึ้น มีโรคประจำตัวมากมาย ทั้งยังมีความบกพร่องทางร่างกายที่ทำให้การเคลื่อนไหวมีปัญหา อย่าให้ครูน้อยต้องเหนื่อยไปกว่านี้ ไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปรบกวน
ขณะที่ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของครูน้อย ผ่านสื่อมวลชนว่า ยินดีให้ พม.ช่วยเหลือดูแลเด็กที่อยู่ในความอุปการะของครูน้อยซึ่งมีทั้งเด็กพิการ เด็กกำพร้าจำนวน 18 คนนั้น ตนจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงานเพื่อรับมาดูแลในสถานสงเคราะห์ โดยผู้หญิงจะให้อยู่ที่บ้านราชวิถี ส่วนผู้ชายอยู่ที่บ้านปากเกร็ด ซึ่งดูแลทั้งความเป็นอยู่และการศึกษาที่ดีกว่าแน่นอน ส่วนเรื่องหนี้สินคงต้องให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล
“จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเด็กนอกเหนือจาก 18 คนนั้น มีพ่อแม่เลี้ยงดู แต่ถือเป็นประเพณีที่มากินมาขอเงินจากครูน้อย และการใช้จ่ายเงินก็ไม่มีการควบคุม จึงทำให้เกิดหนี้สิน อีกทั้งยังผิดวิสัยที่รับเลี้ยงเด็กไม่กี่คนแต่กลับใช้จ่ายถึง 7-8 ล้านบาท เฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อเดือน เพราะเท่าที่ทราบมีการจ่ายเงินให้คนที่ทำความสะอาด 500 บาทต่อวัน พี่เลี้ยงเด็ก 1,500 บาทต่อวัน และคนทำบัญชี 2,500 บาทต่อวัน ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากมีการแก้ปัญหาหนี้สินแล้ว แต่ยังคงปล่อยให้บริหารจัดการแบบเดิม ไม่มีการควบคุมการใช้จ่าย ก็คงจะประสบปัญหาเหมือนเดิม” รมว.พม.กล่าว