xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.แจงปรับ4รูปแบบสอบO-NET GAT / PAT ลดเด็กเดาสุ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
สทศ. แจงปรับรูปแบบข้อสอบ O-NET GAT / PAT เพื่อวัดความรู้เด็กจริงๆ เตรียมปรับ 4 รูปแบบ ทั้งปรนัย 4 ตัวเลือก – เลือกได้หลายคำตอบ เติมตัวเลข ตอบจากสิ่งที่อ่านจากบทความ ลดการเดา ย้ำปรับเปลี่ยนไม่ต้องบอกเด็กล่วงหน้า ด้าน “ปธ.ทปอ.” ยันสอบ GAT / PAT 3 ครั้งเพื่อประโยชน์ของเด็ก

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นักเรียนและผู้ปกครองสอบถามถึงเหตุผลที่ สทศ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ว่า สทศ.ไม่ได้ปรับรูปแบบข้อสอบ O-NET เท่านั้น แต่ยังปรับรูปแบบข้อสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ด้วย เนื่องจากต้องการวัดความรู้ ความสามารถของเด็กจริง ๆ และต้องยอมรับว่ารูปแบบการสอบ ที่ใช้ข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก และให้นักเรียนต้องเลือกข้อที่ถูกที่สุดเพียง 1 ข้อ เป็นรูปแบบที่ผู้ตอบสามารถเดาถูกได้ ¼ หรือ 25% ดังนั้นถ้ามีข้อสอบ 100 ข้อๆ ละ 1 คะแนน นักเรียนที่ได้ 25 คะแนน อาจมาจากการเดาถูกทั้งหมดก็ได้ จึงทำให้ สทศ.ต้องปรับรูปแบบการสอบ

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบข้อสอบ O-NET GAT และ PAT ที่สทศ.ปรับเปลี่ยนมี 4 รูปแบบคือ1. แบบปรนัย 4 ตัวเลือกที่ให้เลือกตัวเลือกที่ถูกที่สุด 1 ตัวเลือก 2. แบบปรนัยหลายตัวเลือก ที่เลือกคำตอบหลายคำตอบ 3.แบบเติมค่าเป็นตัวเลข เช่น ถ้าต้องการจะวัดว่านักเรียนคิดเลขได้คำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องใส่ข้อสอบที่ให้นักเรียนเติมค่า และ4. แบบอ่านบทความแล้วให้ตอบจากสิ่งที่อ่าน และในการสอบแต่ละอย่างนั้นจะใช้รูปแบบข้อสอบอย่างน้อย 2 รูปแบบ ซึ่งการปรับรูปแบบข้อสอบทำแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือปรับเพียง 1 ใน 3 ของข้อสอบเท่านั้น และในการสอบGAT / PAT ที่ผ่านมานั้นก็นำรูปแบบข้อสอบนี้มาใช้แล้ว และผลการประเมินเบื้องต้นพบว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบไม่ได้ทำให้ข้อสอบง่ายหรือยากกว่าเดิม แต่ทำให้ลดการเดาของนักเรียนได้

อย่างไรก็ตามตนขอย้ำว่าการปรับรูปแบบข้อสอบจะทำให้วัดความรู้ความสามารถของเด็กได้ และถ้าเด็กเก่งจริงก็จะต้องทำข้อสอบของ สทศ.ได้แน่นอน ส่วนที่ว่าการปรับรูปแบบข้อสอบนั้นจะต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้าก่อน 1 ปีหรือไม่นั้นตนเห็นว่าไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะการปรับข้อสอบไม่ใช่เรื่องใหม่ และทำกันอยู่ทั่วโลก ซึ่งครูในโรงเรียนก็ต้องทำด้วย เพื่อให้การวัดผลของแต่ละวิชาเหมาะสม

ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่ นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ จะฟ้องศาลปกครอง ที่ ทปอ. ไม่ลดจำนวนการสมัครสอบ GAT / PAT ลงทั้งที่การสอบหลายครั้งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการศึกษา และเด็กกวดวิชามากขึ้น ว่า เป็นสิทธิที่นายอำนวยทำได้ และทปอ.พร้อมที่จะไปชี้แจงด้วยเหตุและผล รวมทั้งตนยืนยันว่าการจัดสอบGAT / PAT 3 ครั้ง ไม่ได้ต้องการหักค่าหัวคิด เพราะทปอ.เป็นหน่วยงานให้บริการแก่เด็กอยู่แล้ว และที่ต้องสอบ 3 ครั้งก็เพื่อประโยชน์ของเด็กจะได้เลือกสอบตามความเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น