xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” สั่งลดเนื้อหาวิชาในชั้น ให้เรียนรู้นอกห้องเพิ่มขึ้น ออกข้อสอบอัตนัยผสมปรนัยวัดผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จุรินทร์” เผยปรับลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนออกไป 30% ลดตัวชี้วัดเหลือกว่า 2 ตัวชี้วัด ทำให้ตารางเรียนลดลง สั่งเพิ่มเรียนรู้นอกห้องเรียน เน้นคิดวิเคราะห์ ให้โรงเรียนออกข้อสอบอัตนัยผสมปรนัย เพื่อวัดผลการเรียน มอบ สพฐ.ประสาน สทศ.ออกข้อสอบตามหลักสูตรใหม่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุม 5 องค์กรหลักว่า มีนโนบายปรับกระบวนการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย ให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น สอนท่องจำเท่าที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ได้กรอบ ข้อสรุปในแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจนแล้ว และต่อจากนี้ไปในเรื่องของหลักสูตร ศธ.จะใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2553 ซึ่งจะเริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับหลักสูตรที่จะทำให้คิด วิเคราะห์เพิ่มขึ้นและเป็นหลักสูตรที่ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาสาระวิชาที่เรียน ทั้งนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะลดลง 30% ขณะเดียวกัน ตัวชี้วันที่ปัจจุบันเรามีอยู่ 3,000-4,000 ตัวชี้วัดตลอดช่วงที่เรียน ป.1 ถึง ม.6 ถัดจากนี้ไปตัวชี้วัดจะเหลือ 2,165 ตัวชี้วัด

ผลจากการตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนและปรับลดตัวชี้วัดนี้จะไม่ทำให้คุณภาพลดลง แต่จะมีผลดีจะทำให้เด็กมีโอกาสเรียนนอกห้องเรียนแบบสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เมื่อเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนถูกตัดออกจึงมีเวลาเหลือเรียนนอกห้องเรียน โดยจะเน้น 3 ส่วน คือ 1.ทุกโรงเรียนจะต้องหาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนที่จะนำไปสู่นอกห้องเรียนให้พบ เชื่อว่าทุกโรงเรียนจะมีแหล่งเรียนรู้ เช่น ผักสวนครัว เสาธง ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญได้ เรื่องเลขาคณิต ประวัติศาสตร์ 2.แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ซึ่งโรงเรียนทุกโรงจะต้องสรุปให้ได้ว่ามีแหล่งเรียนรู้อะไรบ้าง รวมถึงวัฒนธรรมประเพณี เรื่องราวท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เด็กเรียนรู้และสัมผัสความเป็นจริง 3.กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น ค่าย ทัศนศึกษา ชมรมศิลปะ กีฬา ดนตรี ซึ่งทุกโรงจะต้องออกแบบว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม โครงการเรียนฟรี 15 ปีจะมีส่วนสำคัญในส่วนของการเข้าไปเสริมเรื่องของค่าใช้จ่าย

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การจัดตารางสอนจากปัจจุบันที่เรียนอยู่ประมาณ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจะมีข้อสรุปตามมาว่าแต่ละโรงเรียนจะลดลงเหลือกี่ชั่วโมง เรียนนอกห้องเรียนแบบสร้างสรรค์เท่าไหร่ต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น นอกจากเด็กจะรู้ด้านวิชาการ เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น

ส่วนกระบวนการปรับการเรียนการสอนเพื่อการนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.สอนให้คิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน จะเน้นช่วงชั้นที่ 1 และ 2 เช่นความสามารถในการสื่อสาร รู้จักสังเกต สำรวจ ค้นหา เปรียบเทียบ คัดแยกเป็น 2. การคิดวิเคราะห์ระดับสูง เน้นในช่วงชั้น 2, 3 และ 4 เช่น สามารถนิยาม วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา ตัดสินใจ และคิดอย่างมีวิจารณญาณได้

พร้อมกันนี้จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ 2 เรื่อง คือ 1.กระบวนการเรียนการสอนจะเน้นให้เด็กเขียนเรียงความ ย่อความเป็น ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมา ขาดหายไป 2.ข้อสอบของ สพฐ.จะมีข้อสอบอัตนัยกับปรนัย พร้อมกันนี้ตนได้มอบให้ สพฐ.ประสานกันกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. เพื่อให้ข้อสอบโอเน็ตสอดคล้องกับเนื้อหาของ สพฐ.ด้วย ไม่ใช่สอนอย่างออกข้อสอบอย่างหนึ่ง กรรมจะไปตกที่เด็ก โรงเรียนกวดวิชาจะรวย

นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องการแนะแนว เริ่มตั้งแต่ประถมวัย ประถม มัธยมต้นและมัธยมปลาย ในรูปของครูที่ปรึกษา โดยในแต่ละระดับชั้นจะมีรายละเอียดการแนะแนวที่แตกต่างกันออกไป ส่วนการแนะแนวว่าเด็กควรจะไปเรียนทางไหน ให้เด็กค้นพบความถนัดของตนเอง เริ่ม ม.ต้น เป็นอย่างช้า ไม่ใช่ไปรอ ม.6 แล้วค่อยแนะแนวเรียนต่อ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.ทุกแห่ง โดยจะให้โรงเรียนดี 3 ระดับ จำนวน 10,000 โรงเป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน สพฐ.กว่า 30,000 โรง รวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วย


นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ศธ.จะใช้วิธีการอบรมพัฒนาครู 8 กลุ่มสาระให้สอดรับกับการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงด้วย และขณะนี้ทำสื่อต้นแบบ คู่มือต้นแบบ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตำราเรียนต้นแบบ กำลังเร่งรัดอยู่ ซึ่งวิชาสังคมจะเปลี่ยนตั้งแต่ ป.-6 และ ม.1 กับ ม.4
กำลังโหลดความคิดเห็น