xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ปชช.หนุนรัฐสู้คดีหวยออนไลน์เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เอแบคโพลล์" เผยผลสำรวจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อกรณีหวยออนไลน์ พบแนวโน้มของประชาชนที่มองว่า รัฐบาลควรต่อสู้คดีความกับบริษัทเอกชนเพื่อไม่ให้มีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทยเพิ่มขึ้น

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวและประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง เปรียบเทียบแนวโน้มความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อกรณีหวยออนไลน์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ปทุมธานี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ชลบุรี หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,063 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 5 มกราคม 2553

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบข่าวเกี่ยวกับหวยออนไลน์มากขึ้นจากร้อยละ 79.7 ในเดือนมิถุนายน 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 82.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างประชาชนที่คิดว่าหวยออนไลน์จะเป็นการมอมเมาคนไทยมากขึ้น เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ร้อยละ 52.4 ในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ร้อยละ 53.6 ในการสำรวจครั้งนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่คิดว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนที่เป็นผู้หญิงหันมาเล่นหวยออนไลน์มากขึ้นด้วยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.4 ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มาอยู่ที่ร้อยละ 62.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนไทยเล่นหวยมากขึ้น ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.8 ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77.2 ในการวิจัยครั้งนี้มองว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่กวดขันจริงจัง ในขณะที่ร้อยละ 73.2 มองว่าเป็นความง่ายในการเล่น ร้อยละ 72.6 มองว่าคนไทยชอบเสี่ยง ร้อยละ 67.4 มองว่า รูปแบบการเล่นที่ทันสมัย และร้อยละ 57.9 มองว่าเป็นอิทธิพลมาจากการโฆษณา ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.8 คิดว่าถ้าเล่นแล้วจะทำให้ติด และอยากเล่นต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่ร้อยละ 29.2 ไม่คิดเช่นนั้น นอกจากนี้ ปัญหาที่ประชาชนเป็นห่วงกังวลว่าจะเกิดขึ้นตามมา หากเด็กและเยาวชนมีการเล่นหวยมากยิ่งขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.1 กังวลปัญหาแหล่งพนัน อบายมุขมากขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 72.7 กังวลเป็นห่วงปัญหาโจรกรรมทรัพย์สิน ร้อยละ 69.0 กังวลปัญหาครอบครัว ร้อยละ 62.1 กังวลปัญหายาเสพติดจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.2 กังวลปัญหาการขายบริการทางเพศ ร้อยละ 54.0 เป็นห่วงปัญหาเด็กหนีเรียนจะมากขึ้น ร้อยละ 53.7 กังวลปัญหาความรุนแรง ทะเลาะวิวาท อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไร

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.0 ไม่เห็นด้วยกับการมีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยให้เหตุผลว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งพระพุทธศาสนาควรช่วยกันลดอบายมุขมากกว่าส่งเสริม /หวยออนไลน์จะเป็นการมอมเมาประชาชน/ ทำให้คนเล่นการพนันมากขึ้น /ยังไม่มีกฎเกณฑ์และเจ้าหน้าที่ที่เข้มงวดเพียงพอ/ จะทำให้เกิดปัญหาสังคมหลายอย่างตามมา อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 42.0 เห็นด้วย เพราะ ถึงไม่มีหวยออนไลน์คนก็เล่นหวยกันอยู่แล้ว / จะได้ไม่ต้องมีหวยใต้ดิน/ รัฐบาลมีรายได้มากขึ้น/เป็นการเสี่ยงโชคและทางเลือกของคนจน / คิดว่าหวยออนไลน์จะสามารถแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้ /ช่วยแก้ปัญหาการขายหวยเกินราคา และประชาชนจะได้เล่นหวยที่ถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.3 คิดว่า การทำงานหนักทำให้มีโอกาสได้เงินมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 3.7 มองว่า การเล่นหวยมีโอกาสได้เงินมากกว่า

และเมื่อถามถึงท่าทีของรัฐบาลต่อกรณีหวยออนไลน์ พบว่า แนวโน้มของประชาชนที่มองว่า รัฐบาลควรต่อสู้คดีความกับบริษัทเอกชนเพื่อไม่ให้มีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.7 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ร้อยละ 52.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ ในขณะที่ร้อยละ 35.4 เห็นว่ารัฐบาลควรยอมให้มีหวยออนไลน์ และร้อยละ 11.7 ไม่มีความเห็น ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนที่ไม่แสดงความคิดเห็นในการสำรวจครั้งก่อนหันมาสนับสนุนรัฐบาลในการต่อสู้คดีความกับบริษัทเอกชนเพื่อไม่ให้มีหวยออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 54.8 เป็นหญิง ร้อยละ 45.2 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.6 อายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 21.7 อายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 26.6 อายุ 40 – 49 ปี และร้อยละ 27.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยตัวอย่างร้อยละ 31.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 26.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 16.6 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.8 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.5 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ร้อยละ 75.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.9 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น