xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ชงรับเด็กให้ "จุรินทร์" ยังไม่ฟันธงคัด ม.4 รร.ยอดนิยม แย้ม เตรียมดันเด็กเรียนสายอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
“ชินภัทร” ชงเกณฑ์การคัดนักเรียน เสนอ “จุรินทร์” ตัดสินใจวันนี้ ยังไม่ฟันธงการคัดเด็ก ม.4 โรงเรียนยอดนิยม แย้มเตรียมดันเด็กไปเรียนสายอาชีพ เอกชน เพิ่มขึ้น

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เผยความคืบหน้าการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2553 ว่า หลังจากปรึกษาหารือร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยให้ผู้เรียนได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะเดียวกันให้มีการประสานงานเพื่อให้การเข้าเรียนในสายอาชีพเพิ่มสัดส่วนตามที่กำหนดไว้ด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งเป้าหมายว่า เพิ่มสายอาชีพให้สูงขึ้น หรือ ร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับสายสามัญ และในอนาคตสายอาชีพสูงกว่าสายสามัญ รวมทั้งจะให้ภาคเอกชนมีสัดส่วนการรับนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมายจากปัจจุบันการรับนักเรียนอยู่ที่ ร้อยละ 20 โรงเรียนของรัฐ ร้อยละ 80 เพิ่มเป็นเอกชน ร้อยละ 30 โรงเรียนของรัฐ ร้อยละ 70

นายชินภัทร กล่าวว่า การรับนักเรียน ก่อนประถมศึกษา , ป.1 และ ม.1 จะมีวิธีการคัดเลือกเหมือนปีที่ผ่านมา คือ รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 50 อาจใช้วิธีการจับฉลากหรือสอบคัดเลือกก็ได้ โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 50 เป็นการรับนักเรียนทั่วไป โดยใช้วิธีการสอบคัดเลือก

ส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.4 และ ปวช. นั้น ได้มีข้อเสนอประเด็นหลักๆ คือ จะพยายามให้ผู้เรียนมีโอกาส ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอว่า ควรรับนักเรียนที่มีศักยภาพที่เหมาะสมเข้าเรียนต่อ ม. 4 โดยโรงเรียนแต่ละแห่งมีการกำหนดเกณฑ์เกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 2.00- 3.00 เพราะสพฐ.ไม่ได้กำหนดว่านักเรียนที่มีศักยภาพนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ การที่ไม่ได้มีการกำหนดเกรดเฉลี่ย ทำให้เกิดนักเรียน ผู้ปกครอง รู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ และกำหนดเกณฑ์ศักยภาพที่เหมาะสมขึ้น แต่เกณฑ์นี้ไม่ใช่ทำทุกโรง จะทำเฉพาะโรงเรียนยอดนิยม 369 แห่งเท่านั้น

“หากไม่กำหนดหลักเกณฑ์ศักยภาพที่เหมาะสม จะเกิดปัญหาโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีแผนการเรียนรับนักเรียนชั้น ม.ปลาย น้อยกว่า ม.ต้น ทำให้เด็กจบ.ม.3 ไม่ได้เข้าเรียนครบทุกคน เนื่องจากจำนวนที่นั่งไม่เพียงพอ วันนี้ได้มีการเสนอทางเลือกหลายทาง เช่น1. เหมือนปีที่ผ่านมา 2.ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ใดๆ เลย ตรงนี้หมายความให้รับนักเรียนทุกคนที่เคยเรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนั้น อย่างไรก็ตาม จะมีผลในทางปฏิบัติ เพราะรับ ม.ปลายน้อยกว่าม.ต้น จึงรองรับนักเรียนที่จบทั้งหมดไม่ได้ และ 3. มีการกำหนดเกณฑ์ ศักยภาพของนักเรียน ผลการหารือและข้อเสนอเหล่านี้ จะนำเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) วันนี้ (5 ม.ค.) เพื่อให้ท่านพิจารณาต่อไป”

นายชินภัทร เล่าว่า สพฐ.เคยมีการเสนอเกรด 2.00 เพราะจากสถิติข้อมูลเราพบว่าในโรงเรียนทั่วๆ ไปนักเรียนมีเกรดเฉลี่ย ตั้งแต่ 2.00 มีร้อยละ 70 ส่วนโรงเรียนยอดนิยม ส่วนใหญ่จะมีผลการเรียนเฉลี่ย 2.00 อยู่ประมาณร้อยละ 85 ทั้งนี้ จะนักเรียนคะแนนเกิน 2.00 ใกล้เคียงกับที่นั่งที่รับได้ อีกส่วนหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับ สช. และ สอศ. มีข้อเสนอให้การรับนักเรียนของ สพฐ.ได้ควบคุมแผนการรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 คงที่ โดยไม่ให้มีการขยายชั้นเรียน ไม่เพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง หรือเพิ่มห้องเรียน ในแต่ละชั้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในส่วนที่เกินได้พิจารณาเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน และเข้าเรียนสายอาชีพ มากขึ้น

“เราจะเป็นมาตรการดึงดูดนักเรียนเรียนสายอาชีพ ไม่ใช่ผลักนักเรียนออกจากสายสามัญ แต่ สพฐ.ตรึงจำนวนการรับ ม.1 และ ม. 4 ไว้ โอกาสที่นักเรียนและผู้ปกครอง จะเลือกเรียนเอกชนและสายอาชีพเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร”

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรามีตัวเลขนักเรียนที่จะจบชั้น ม. 3 ประมาณ 837,551 คน เป็นนักเรียนที่จบจาก สพฐ.จำนวน 701,946 คน นักเรียนสังกัด สช. จำนวน 108,605 คน และสังกัดอื่น 27,000 คน พร้อมกันนี้ ทาง สพฐ.มีแผนการรับนักเรียน จำนวน 339,884 คน สังกัด สอศ. รับนักเรียนประมาณ 220,000 คน สังกัด สช.รับประมาณ 200,000 คน แยกเป็นสายสามัญ 100,000 คน สายอาชีพ 100,000 คน สังกัดอื่น ประมาณ 30,000 คน รวมแผนการรับนักเรียนของทุกสังกัดรับได้ประมาณ 789,884 คน

ผู้สื่อข่าวถามการที่มีข้อเสนอให้นำ O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกเข้า ม. 1 นายชินภัทร ตอบว่า เป็นเพียงทางเลือก แต่ยังไม่แน่ใจว่าโรงเรียนมีความพร้อมเรื่องนี้แค่ไหน แต่ให้โรงเรียนเลือกใช้ได้ ไม่ได้บังคับ ทางโรงเรียนอาจใช้แทนการสอบคัดเลือก

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น