xs
xsm
sm
md
lg

เด็กแพ้! แอดมิชชัน ศาลชี้ชอบด้วย กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง กรณีเด็กนักเรียนร้อง ใช้แอดมิชชันแทนเอนทรานซ์ไม่เป็นธรรม ระบุชอบด้วยกฎหมายแล้ว การเปลี่ยนระบบคัดเลือกเป็นอำนาจของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ส่วนการปรับระบบคัดเลือกเป็นมติของที่ประชุม ทปอ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายชัยวิชิต เจษฎาภัทรกุล เป็นผู้ยื่นฟ้องร้องสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2551โดยอ้างว่าตนจบการศึกษาชั้น ม. 6 จาก ร.ร.วัดนวลนรดิศ ปีการศึกษา 2528 และจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2549 และต้องการเปลี่ยนอาชีพมาทำงานด้านกฎหมาย จึงอยากสมัครคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งในปี 2549 เป็นปีแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกจากเอนทรานซ์มาเป็นแอดมิชชัน โดยมีการกำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกต้องใช้คะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการคัดเลือกระบบแอดมิชชัน

นายชัยวิชิตอ้างว่า ตนเองได้เข้าสอบ O-NET ในปีการศึกษา 2549 และ 2550 และนำคะแนนไปสมัครคัดเลือกเข้าเรียนในคณะด้านกฎหมาย แต่ผลก็คือไม่ผ่านการคัดเลือก ต่อมาในปี 2551 นำคะแนนสอบ O-NET ในปี 2549 ไปสมัครคัดเลือกผ่านระบบ Admission อีกครั้ง เมื่อคำนวณคะแนนองค์ประกอบคัดเลือกทุกองค์ประกอบแล้วพบว่าคะแนนรวมของตัวเองสูงกว่าคะแนนขั้นต่ำของการคัดเลือกเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แต่ตัวเองกลับไม่ผ่านการคัดเลือก เมื่อสอบถามไปยัง สกอ.ซึ่งเป็นผู้ประมวลผลการคัดเลือกก็ได้รับคำตอบว่าตนขาดคุณสมบัติ เรื่องคะแนนสอบ O-NET เนื่องจากระเบียบการคัดเลือกกำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้สมัครต้องใช้คะแนนสอบ O-NET ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้นม. 6 เท่านั้นมายื่นพิจารณาคัดเลือก

นายชัยวิชิตอ้างด้วยว่า ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาเป็นปีที่ยังไม่มีระบบสอบ O-NET จึงไม่เป็นธรรมที่จะกำหนดกฏเกณฑ์เช่นนี้ในระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน เป็นความไม่เสมอภาค เป็นการลิดรอนสิทธิ์นักเรียนที่เรียนจบก่อนปีการศึกษา 2549 ให้ไม่สามารถสมัครคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชันได้ จึงขอให้ศาลพิจารณาว่าการนำระบบแอดมิชชันมาใช้ และการจำกัดให้ใช้คะแนนสอบ O-NET เฉพาะปีที่ผู้สมัครสอบคัดเลือกจบการศึกษาชั้น ม. 6 เท่านั้นมายื่นประกอบการพิจารณาคัดเลือก เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วานนี้ (4 พ.ย.) ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ประเด็นทั้ง 2 ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการปรับเปลี่ยนระบบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งที่กระทำได้ตามกฎหมายการจัดตั้งสถาบัน การปรับระบบคัดเลือกจากเอนทรานซ์มาเป็นแอดมิชชันเป็นมติของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ส่วน สกอ.ที่ถูกผู้ร้องฟ้องร้องนั้น เป็นเพียงผู้ประสานงานและดำเนินการคัดเลือกแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น

อีกทั้งเหตุผลการจำกัดให้ผู้สมัครแอดมิชชันใช้คะแนนสอบ O-NET ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้นม. 6 เพียงครั้งเดียวเท่านั้นมายื่นคัดเลือก ก็รับฟังได้ว่าการสอบ O-NET เป็นการสอบที่มุ่งวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนชั้นม.ปลายของเด็ก เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาและเป็นดัชนีบ่งชี้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษา ด้วยเหตุนี้นักเรียนแต่ละคนจึงสามารถเข้ารับการทดสอบ O-NET ได้เพียงครั้งเดียวในปีที่ตนเองจบการศึกษาเท่านั้น คุณสมบัติของคะแนน O-NET ที่นำมาใช้ในระบบ Admission จึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสอบ O-NET ด้วย

ศาลปกครองให้เหตุผลด้วยว่า ในกรณีที่ผู้จบการศึกษาไม่ตรงกับปีที่สอบ O-NET แล้วเข้าสอบ O-NET ถือเป็นการขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของการสอบ O-NET และอาจส่งผลให้การวัดผลสัมฤทธิ์ของสถานศึกษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตามในช่วงการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านระบบแอดมิชชันในปีการศึกษา 2549 และ 2550 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนระบบคัดเลือกใหม่ๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเกณฑ์คัดเลือก ก็พิจารณาเยียวยาให้ผู้ที่จบการศึกษาชั้น ม.6 ก่อนปีการศึกษา 2549 สามารถสอบ O-NET และนำคะแนนมาใช้คัดเลือกระบบแอดมิชชันได้ในช่วง 2 ปีดังกล่าว ศาลเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกได้ให้โอกาสกับผู้จบการศึกษาก่อนปี 2549 พอสมควรแล้ว จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ กล่าวว่าถึตนไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับศาลปกครอง แต่ในส่วนตัวแล้วขณะนี้ได้ยื่นเรื่องอุทรณ์ไปที่ศาลอาญาในการฟ้องนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ. ในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นำการคัดเลือกนักศึกษาระบบแอดมิชชันมาใช้ โดยที่ไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข และศาลอาญาก็รับอุทรณ์ไว้แล้ว ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้อง ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอธิการบดีอีกหลายคนที่อยู่ใน ทปอ. ในฐานความผิดที่ยังดันทุรังให้ใช้ระบบแอดมิชชันต่อไป โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข.
กำลังโหลดความคิดเห็น