ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง กรณีนักเรียนร้องเปลี่ยนระบบคัดเลือกนศ.เข้าเรียนต่อมหา’ลัย จาก Entrance มาเป็น Admission ทั้งยังจำกัดให้ผู้สมัครคัดเลือกต้องใช้คะแนนสอบ O-net ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้นม.6 เท่านั้นมาเป็นองค์ประกอบคัดเลือก ชี้เปลี่ยนระบบคัดเลือก เป็นอำนาจหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งที่กระทำได้ ขณะที่การปรับระบบคัดเลือกเป็นมติของที่ประชุม ทปอ. ส่วนที่ใช้คะแนน O-NET ในปีที่จบชั้น ม.6 เพียงครั้งเดียวนั้น เพราะต้องการวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนชั้นม.ปลาย พร้อมช่วยประกันคุณภาพการศึกษา เป็นดัชนีบ่งชี้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษา ด้านศาลอาญารับอุทรณ์คำร้อง "หมอกมลพรรณ" ฟ้อง "จุรินทร์" ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เปลี่ยนแปลงระบบแอดมิชชัน ทั้งที่มีเสียงท้วงติง ขณะที่สัปดาห์หน้าเตรียมฟ้อง "ดร.สุรพล" อธ.มธ. และ อธิการบดีใน ทปอ. ฐานดันทุรังใช้ระบบแอดมิชชันไม่ยอมปรับเปลี่ยนระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายชัยวิชิต เจษฎาภัทรกุล เป็นผู้ยื่นฟ้องร้องสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตั้งแต่เดือน พ.ค.2551 โดยอ้างว่าตนจบการศึกษาชั้น ม.6 จาก ร.ร.วัดนวลนรดิศ ปีการศึกษา 2528 และจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ เมื่อปี 2549 และต้องการเปลี่ยนอาชีพมาทำงานด้านกฎหมาย จึงอยากสมัครคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งในปี 2549 นั้นเป็นปีแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกจาก Entrance มาเป็น Admission โดยมีการกำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกต้องใช้คะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการคัดเลือกระบบ Admission
โดย นายชัยวิชิตอ้างว่า ตนเองได้เข้าสอบ O-NET ในปีการศึกษา 2549 และ 2550 และนำคะแนนไปสมัครคัดเลือกเข้าเรียนในคณะด้านกฎหมาย แต่ผลก็คือไม่ผ่านการคัดเลือก ต่อมาในปี 2551 ก็นำคะแนนสอบ O-NET ในปี 2549 ไปสมัครคัดเลือกผ่านระบบ Admission อีกครั้ง เมื่อคำนวณคะแนนองค์ประกอบคัดเลือกทุกองค์ประกอบแล้วพบว่า คะแนนรวมของตัวเองสูงกว่าคะแนนขั้นต่ำของการคัดเลือกเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แต่ตัวเองกลับไม่ผ่านการคัดเลือก เมื่อสอบถามไปยัง สกอ.ซึ่งเป็นผู้ประมวลผลการคัดเลือกก็ได้รับคำตอบว่าตนขาดคุณสมบัติ เรื่องคะแนนสอบ O-NET เนื่องจากระเบียบการคัดเลือกกำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้สมัครต้องใช้คะแนนสอบ O-NET ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้น ม.6 เท่านั้นมายื่นพิจารณาคัดเลือก
นายชัยวิชิตได้อ้างต่ออีกว่า ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาเป็นปีที่ยังไม่มีระบบสอบ O-NET จึงไม่เป็นธรรมที่จะกำหนดกฏเกณฑ์เช่นนี้ในระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน เป็นความไม่เสมอภาค เป็นการลิดรอนสิทธิ์นักเรียนที่เรียนจบก่อนปีการศึกษา 2549 ให้ไม่สามารถสมัครคัดเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในระบบ Admission ได้ จึงขอให้ศาลพิจารณาว่าการนำระบบ Admission มาใช้ และการจำกัดให้ใช้คะแนนสอบ O-NET เฉพาะปีที่ผู้สมัครสอบคัดเลือกจบการศึกษาชั้น ม.6 เท่านั้นมายื่นประกอบการพิจารณาคัดเลือก เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในวันนี้ (4 พ.ย.) ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาว่า ประเด็นทั้ง 2 ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการปรับเปลี่ยนระบบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งที่กระทำได้ตามกฎหมายการจัดตั้งสถาบัน การปรับระบบคัดเลือกจาก Entrance มาเป็น Admission เป็นมติของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ส่วน สกอ.ที่ถูกผู้ร้องฟ้องร้องนั้นเป็นเพียงผู้ประสานงานและดำเนินการคัดเลือกแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น อีกทั้งเหตุผลการจำกัดให้ผู้สมัคร Admission ใช้คะแนนสอบ O-NET ในปีที่ตัวเองจบการศึกษาชั้น ม.6 เพียงครั้งเดียวเท่านั้นมายื่นคัดเลือก ก็รับฟังได้ว่าการสอบ O-NET เป็นการสอบที่มุ่งวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนชั้น ม.ปลายของเด็ก เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาและเป็นดัชนีบ่งชี้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษา ด้วยเหตุนี้นักเรียนแต่ละคนจึงสามารถเข้ารับการทดสอบ O-NET ได้เพียงครั้งเดียวในปีที่ตนเองจบการศึกษาเท่านั้น คุณสมบัติของคะแนน O-NET ที่นำมาใช้ในระบบ Admission จึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสอบ O-NET ด้วย
ศาลปกครองยังให้เหตุผลอีกว่า ในกรณีที่ผู้จบการศึกษาไม่ตรงกับปีที่สอบ O-NET แล้วเข้าสอบ O-NET ถือเป็นการขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของการสอบ O-NET และอาจส่งผลให้การวัดผลสัมฤทธิ์ของสถานศึกษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ในช่วงการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านระบบ Admission ในปีการศึกษา 2549 และ 2550 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนระบบคัดเลือกใหม่ๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเกณฑ์คัดเลือก ก็พิจารณาเยียวยาให้ผู้ที่จบการศึกษาชั้นม.6 ก่อนปีการศึกษา 2549 สามารถสอบ O-NET และนำคะแนนมาใช้คัดเลือกระบบ Admission ได้ในช่วง 2 ปีดังกล่าว ศาลเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกได้ให้โอกาสกับผู้จบการศึกษาก่อนปี 2549 พอสมควรแล้ว จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง นายชัยวิชิต เจษฎาภัทรกุล ที่เป็นผู้ยื่นฟ้องร้องเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจาก Entrance มาเป็น Admission ว่า
ตนไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับศาลปกครอง แต่ในส่วนตัวแล้วขณะนี้ได้ยื่นเรื่องอุทรณ์ไปที่ศาลอาญา และศาลอาญาก็รับอุทรณ์ไว้แล้ว ในการยื่นฟ้องนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ. ในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยนำการคัดเลือกนักศึกษาระบบแอดมิชชันมาใช้ โดยที่ไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขทั้งๆ ที่มีเสียงคัดค้านมากมายทั้งจากเด็กนักเรียน และจากผลการวิจัยของหลานสถาบัน ซึ่งต่อไปศาลได้ให้เวลากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ยื่นเรื่องแก้ต่างภายใน 15 วัน นอกจากนี้ภายในสัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้อง ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และอธิการบดีอีกหลายคนที่อยู่ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ในฐานความผิดที่ยังดันทุรังให้ใช้ระบบแอดมิชชันต่อไป โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข