xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” สั่งเช็กบิล สพฐ.หลังพบปัญหาอื้อ “ใต้โต๊ะเลื่อนขั้น-ย้ายครูไม่โปร่งใส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จุรินทร์” เผย สพฐ.มีปัญหาในพื้นที่การศึกษาอื้อ! ย้ายครู-สอบคัดเลือกผู้บริหารไม่โปร่งใส เรียกใต้โต๊ะแลกประเมินผลงานวิชาการเลื่อนวิทยฐานะ พบเรื่องร้องเรียนถึงมือศาลเพียบ แถมให้ 2 ขั้นเกินโควตา สั่งตั้งอนุกรรมการวิสามัญ ให้อำนาจเลขา กพฐ.เป็นประธาน หลังรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลต้องเช็คบิลภายใน 30 วัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รวบรวมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่การศึกษาให้ที่ประชุมได้พิจารณา พบว่า มีปัญหาอย่างน้อย 6 ลักษณะ สำหรับลักษณะที่ 1. การย้ายครู ผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากมีปัญหาในเรื่องความไม่ชอบมาพากลในบางเขตพื้นที่ และมีปัญหาไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด ลักษณะที่ 2.กรณีเลื่อนขั้นเงินเดือน บางเขตพื้นที่มีการก้าวล่วงอำนาจผู้บริหารในหน่วยงานโดยตรง บางกรณีมีการให้ 2 ขั้นเกินโควตาที่กำหนด เช่น กำหนดว่าไม่เกินร้อยละ 15 ของบุคลากรในพื้นที่ แต่มีการให้เกินไปเป็น 100 คน

ลักษณะที่ 3 การประเมินผลงานวิชาการในเรื่องวิทยฐานะ มีบางพื้นที่มีปัญหามีการเรียกร้องผลประโยชน์ ลักษณะที่ 4 สอบคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา บางพื้นที่มีการร้องเรียนว่า ไม่โปรงใส ลักษณะที่ 5 มีกรณีนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลอาญา ศาลปกครอง และลักษณะที่ 6 การจัดอัตรากำลัง เช่น การบรรจุพนักงานราชการ เป็นข้าราชการ ซึ่งหลักเกณฑ์ได้กำหนดไว้ว่าบรรจุได้ไม่เกิน ร้อยละ 25 แต่มีบางพื้นที่บรรจุเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ลักษณะตัวอย่างปัญหาที่ สพฐ.รวบรวมขึ้นมา เกิดขึ้นเพราะ สพฐ.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้อำนาจของตนเองได้ เนื่องจากการบริหารงานบุคคลของ สพฐ.นั้น มีองค์กรกำกับดูแลตามกฎหมายโดยตรง นั่นก็คือ ก.ค.ศ.จึงนำเรื่องเข้ามาเสนอที่ประชุมให้ ก.ค.ศ.พิจารณาแก้ปัญหา ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญรับเรื่องร้องเรียน โดยมี เลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน และเมื่อรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลแล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นให้รายงานที่ประชุม ก.ค.ศ.ทราบทุกครั้ง เพื่อจะได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป ให้เกิดผลโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมาการสอบสวนบางเรื่องใช้เวลายาวนานถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี

“ต่อไปหากมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ก.ค.ศ.จะใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่มีอยู่โดยเข้มงวดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้อำนาจยับยั้ง ยกเลิก หรือให้ทำใหม่ ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ตลอดจนการใช้อำนาจในการลงโทษผู้กระทำความผิด ถึงขั้นถอดถอน ขณะเดียวกันในส่วนของ สพฐ.จะใช้อำนาจบริหารมากขึ้น” นายจุรินทร์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น