แพทย์หญิงประธานเครือข่ายการเมืองเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ฟ้อง “จุรินทร์” รมว.ศึกษาฯ หลังปล่อยให้ระบบกลางรับนิสิตเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นธรรม
วันนี้ (30 ก.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายการเมืองเพื่อการปฏิรูปการศึกษา, นายทวีพร จันทรวาสน์ นศ.แพทย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และ น.ส.สินีกาญจน์ ศิริรัตน์สัตยะกุล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามคำฟ้องระบุว่า
เมื่อระหว่างวันที่ 20 ธ.ค. 51 - 25 ธ.ค. 52 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ในฐานะรมว.กระทรวงศึกษาธิการ ปล่อยให้มีการสนับสนุนระบบการคัดเลือกการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของรัฐ จากระบบการสอบคัดเลือกรวม (entrance) มาใช้ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (admission) โดยไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ให้นักเรียน ม.6 สอบระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา โดยนำคะแนนแบบสอบทางการศึกษาแห่งชาติพื้นฐาน ONET (Ordinary Nationnal Educational Test) แปดหมวดสาระ ซึ่งเด็กนักเรียนมีโรงเรียน (4.68%) มาคิดคำนวนกับคะแนนเฉลี่ยสะสม หรือ GPA (Grade Point Average) เป็น GPAX GPA มาเป็นเกณฑ์การตัดสินการคัดเลือกเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีความยุติธรรมต่อเด็กทั่วประเทศ
โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่สั่งการและมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำระบบการศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ แต่กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการ ส่งผลเสียให้นักเรียนระดับ ม.6 มีความรู้พื้นฐานไม่เพียงพอ เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็จะพักการเรียน เช่น เด็กนักเรียนสายศิลป์สามารถสมัครเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ได้ แต่เมื่อเข้าไปเรียนแล้วเรียนไม่รู้เรื่อง อีกทั้ง การกระทำของจำเลยยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง เพื่อให้บุตรนำไปจ่ายค่าสมัครสอบรายวิชาความถนัดเฉพาะด้าน / PAT (PAT 1-7) และความถนัดทั่วไป GAT วิชาละ 200 บาท รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 400-1,600 บาท ต่อการสอบแต่ละครั้ง ทำให้เป็นภาระอย่างมากต่อผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน
นอกจากนี้ ปัญหาข้อสอบ GAT และ PAT ซึ่งไม่มีมาตรฐาน บางครั้งยากบางครั้งง่าย ทำให้ผู้ที่มีโอกาสสอบได้หลายครั้ง หรือมีเงินมาก มีโอกาสได้คะแนนสูงกว่า เพราะเลือกได้หลายครั้ง เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องขาดโอกาสที่เท่าเทียมในการแข่งขัน เพราะต้องไปสมัครสอบของแต่มหาวิทยาลัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าสมัครสอบในแต่ละมหาวิทยาลัย ยังไม่รวมรายได้ที่มหาวิทยาลัยได้รับจากการรับตรง เช่น มีมหาวิทยาแห่งหนึ่งเด็กสมัครสอบ 60,000 คน เสียค่าสมัครคนละ 500 บาท รวมเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย 30 ล้านบาท ทั้งๆ ที่รับได้แค่ 2,000 คน แม้ว่าจะเกิดปัญหาหลายประการ แต่จำเลยที่ 1 ยังประกาศให้ใช้ระบบแอดมิชชัน แม้จะอ้างว่ากำลังปรับเปลี่ยนแต่ก็ล่าช้า ละเลยใช้ดุลพินิจไม่ชอบ สร้างความเสียหายแก่ผู้ปกครองและเยาวชนรวมทั้งโจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาจำเลยตามความผิดด้วย ศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อมีคำสั่งต่อไป