xs
xsm
sm
md
lg

SP2 ตัดครุภัณฑ์ 10 รายการ “หมอไพจิตร์” เตรียมทาบแพทย์เชี่ยวชาญร่วมกำหนดราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์ วราชิต
ปลัด สธ.สั่งตัด 10 ครุภัณฑ์ไม่จำเป็นทิ้งจากโครงการไทยเข้มแข็ง เตรียมทาบทามผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง-อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ เข้าร่วมกำหนดราคา สเปกเครื่องมือแพทย์ที่มีปัญหา

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันกับรองปลัด สธ. อธิบดีทุกกรมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็ง เบื้องต้นได้ข้อสรุปเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.รายการครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างใดไม่เหมาะสมทั้งราคา และการกระจายพื้นที่ ไม่มีความจำเป็นให้ตัดออกจากโครงการทันที ซึ่งตามรายงานสรุปผลสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ. ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ได้สรุปรายการครุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นทั้งสิ้น 12 รายการ ซึ่ง สธ.จะยึดตามนั้น

“หากต้องไล่ดูทุกรายการเป็นพันรายการก็จะต้องทำทุกรายการ โดยจะมีการตัดรายการครุภัณฑ์ 10 รายการ จากทั้งหมด 12 รายการออก เพราะไม่มีความจำเป็น ส่วนที่เหลืออีก 2 รายการที่สธ.จะคงไว้ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เพราะเห็นว่ายังมีความจำเป็นอยู่ แต่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาพิจารณากำหนดราคา คุณลักษณะของครุภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคทรวงอก เป็นต้น” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 2 รายการที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งสถานที่ และราคา เป็นไปตามโครงการที่เสนอขอจากพื้นที่ วงเงิน 3,460 ล้านบาท เช่น รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินราคาคันละ 1.8 ล้านบาท จำนวน 800 กว่าคัน รถกระบะให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาคารโรงพยาบาลชุมชน เป็นต้น และรายการสิ่งก่อสร้างที่ได้ปรับลดราคาลง ตามการถอดแบบอาคารก่อสร้าง หรือค่าบีโอคิว (BOQ) ล่าสุดของกองแบบแผน วงเงิน 3,254 ล้านบาท ซึ่งสธ.จะแจ้งวงเงินใหม่หลังปรับแก้แก่สำนักงบประมาณ และให้ทุกจังหวัดเริ่มเดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างได้ คาดว่าจะทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดภายในสัปดาห์นี้

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 3.รายการที่มีปัญหาทั้งเรื่องราคา และการกระจาย เช่น อาคารสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่มีการกระจุกตัวในบางจังหวัด แฟลตพักพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชนที่มีปัญหาเรื่องราคาก่อสร้าง แต่เป็นรายการที่มีความคุ้มค่า และจำเป็นต้องใช้ สธ. จะตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาทบทวนเพื่อแก้ไขราคา และสเปกครุภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ในวงการแพทย์มาร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนายการฯ จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ. พิจารณาตัดสินใจตาม 3 แนวทางดังกล่าว เพื่อให้ สธ.เดินหน้าโครงการไทยเข้มแข็งได้ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 5 มกราคมนี้

“ผมในฐานะปลัด สธ.จะลงมากำกับดูแลโครงการไทยเข้มแข็งด้วยตัวเอง โดยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดของ สธ. โดยเฉพาะคณะกรรมการดำเนินการฯ ที่จะมีบทบาทตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร หรือไม่ซื้ออะไร จะไล่ทบทวนเป็นรายการไป และมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนเท่าเทียมกันด้วยทั้งแพทย์ชนบท แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป กรมต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ” ปลัด สธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพิจารณาเพิ่มงบประมาณตามที่ตัวแทนแพทย์ชนบท และแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ร้องขอหรือไม่ นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า คงทำตามคำร้องขอของกลุ่มต่างๆ ไม่ได้ เพราะการพิจารณาทบทวนครั้งนี้ ให้ยึดตามมติ ครม. เดิมที่มีอยู่เป็นหลัก จึงอาจไม่ได้งบประมาณเพิ่มเติม แต่ สธ.จะพิจารณาเรื่องการกระจายพื้นที่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

ต่อข้อถามว่า หากไม่ได้งบเพิ่มทำให้กลุ่มแพทย์ต่างๆ ไม่พอใจ อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งใน สธ.อีก นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ไม่กังวลเรื่องนี้ มั่นใจว่าสามารถอธิบายเหตุผลให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้ ตนมีวิธีบริการจัดการ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม ซึ่งผมเองก็มีความจริงใจให้กับทุกฝ่าย เชื่อว่าสุดท้ายแล้วปัญหาใน สธ.จะยุติ และผมก็ไม่มีปัญหาอะไรกับใครทั้งสิ้น

สำหรับครุภัณฑ์ 12 รายการที่ไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อตามที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดที่มี นพ.บรรลุ เป็นประธาน ได้สรุปผล มีดังนี้ 1.เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด (Automate Blood Chemistry) 2.เครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติ 3.เครื่องช่วยหายใจ 4.เครื่องดมยาสลบ 5.เครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจกลาง (Central Monitor) 6.เครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) 7.เครื่องสลายนิ่ว 8.เครื่องพ่นยุงติดรถยนต์ 9.เครื่องทำลายเชื้อด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด (ยูวี-แฟน) 10.รถปิกอัพดับเบิลแค็บ 320 คัน 11.รถพยาบาล และ12.ยูนิตทำฟัน 400 เครื่อง ทั้งนี้ รวมครุภัณฑ์ 12 รายการ หากมีการทบทวนจะประหยัดงบประมาณได้ 719.74 ล้านบาท และป้องกันการสูญเสียในอนาคตได้ 645-1,308 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น