xs
xsm
sm
md
lg

ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล.ความจริงที่คนไทยควรรู้แต่ “นช.แม้ว” ไม่อยากฟัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


26 ก.พ.53 คือวันประวัติศาสตร์ที่ทุกองคาพยพของสังคมไทยต้องจับตามองชนิดที่ไม่อาจกะพริบตาได้เลยทีเดียว เนื่องเพราะเป็นวันที่จะมีการพิพากษา “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยมีมูลเหตุมาจากการที่เขากระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มคำพิพากษาของศาลนั้น ก็มีนักวิชาการและบรรดาผู้รู้ต่างๆ คาดเดากันไปต่างๆ นานา บางคนก็อยากให้ยึดทั้งหมด 7.6 หมื่นล้าน เพราะเห็นว่า แม้จะได้มาก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ควรยึดเอาไว้ เนื่องจากเป็นเงินต้นทุนที่ใช้ในการกระทำความผิด ขณะที่บางคนก็บอกว่า ศาลน่าจะยึดทรัพย์เพียงบางส่วน เพราะหากดูที่มาที่ไปของคดี ดูมูลเหตุแห่งการสั่งฟ้อง เงินที่ถูกอายัดเอาไว้ 7.6 หมื่นล้าน บางส่วนเป็นเงินที่นช.ทักษิณได้มาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ถ้าหากจะให้ฟันธงชนิดไม่กลัวธงหัก ก็ต้องบอกว่า “ยึดแน่” แต่เท่าไหร่ไม่มีใครรู้

แต่จะอย่างไรก็ตาม สุดท้ายคงต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ก.พ.ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร และทุกฝ่ายควรจะยอมรับคำตัดสิน

โคตรโกง 1
“คุณหญิง” ใบเสร็จมัดซุกหุ้นลวงโลก


ความผิดข้อที่ 1 ของ นช.ทักษิณก็คือ การซุกหุ้น
ในประเด็นนี้ อัยการสูงสุดได้สรุปสำนวนฟ้องเอาไว้ว่า ในขณะที่นช.ทักษิณดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้ปกปิดการถือหุ้น “บ.ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,4790,150 หุ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่กลับมีการปิดบังอำพรางไว้ในชื่อของบุคคล 4 คนคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ การซุกหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนในชื่อของนายบรรณพจน์และการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้และน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้ชำระเงินกันจริง โดยทำเพียงแค่ทำหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้กับ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานรวมจำนวน 5 ฉบับเป็นเงินเพียง 1,124,335,225 บาท

นอกจากนั้น ยังได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงิน “ลวงโลก” ย้อนหลังเพื่อสร้างหลักฐานเท็จเพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลังอีก ซึ่งประจักษ์พยานที่ชัดเจนคือตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับวันที่ 16 มี.ค.52 เพราะระบุเอาไว้ชัดเจนว่า สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 102,135,225 ล้านบาทให้แก่ “คุณหญิงพจมาน ชินวัตร” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้น คุณหญิงพจมานยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯที่จะสามารถใช้คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง" ได้เพราะจริงๆ แล้วคุณหญิงพจมานจะสามารถใช้คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” ได้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.52 เป็นต้นไป

แถมข้ออ้างที่ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมสูญหายจึงจัดทำขึ้นใหม่ก็ไม่มีการแจ้งความเอกสารหายแต่อย่างใด

หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ มีการจัดทำ “หลักฐานเท็จ” ขึ้นมาในภายหลังอย่างรีบเร่งโดยไม่ได้ตรวจสอบเรื่องการใช้คำนำหน้านามของคุณหญิงพจมานให้รอบคอบเสียก่อน

ดังนั้น การทำธุรกรรมดังกล่าวจึงทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อได้ว่ามีการซื้อขายเท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีการซื้อขายกันจริง หรือเป็นการทำธุรกรรมเพื่ออำพรางการซุกหุ้นเท่านั้น ทั้งๆ ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของนช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ซึ่งการที่ชินคอร์ปเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานกิจการโทรคมนาคมจากรัฐ ทำให้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 และพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542

โคตรโกง 2
วินมาร์ค-แอมเพิลริช
สุดยอดมหากาพย์ซุกหุ้น


นอกจากกรณีข้างต้น นช.ทักษิณยังได้มีการปกปิดการถือครองหุ้นในอีก 2 บริษัทคือ 1. บ.วินมาร์ค จำกัด และบ.แอมเพิลริช อินเวสเม้นท์ จำกัด ซึ่งการซุกหุ้นใน 2 บริษัทนั้นต้องถือว่าเป็น “สุดยอด” คัมภีร์การซุกหุ้นภาค 2 หลังจากประสบความสำเร็จโดยไม่มีความผิดมาแล้วในภาคแรก และกว่าจะจับได้ไล่ทันก็เล่นเอาหืดจับทีเดียว

สำหรับกรณี วินมาร์ค นั้น นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานได้ตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นโดยจดทะเบียนที่ “บริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์” เมื่อวันที่ 31 ม.ค.37 ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของพวกที่ต้องการทำธุรกรรมอำพราง

ต่อมากลางปี 2543 ทั้ง 2 คนได้ขายหุ้น บ.เอสซี แอสเซทฯ และหุ้นบางส่วนของบริษัทในครอบครัวอีก 5 แห่งได้แก่ บ.พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด,บ.เวิร์ธ ซัพพลาย จำกัด,บ.บี.พี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด,บ.เอสซีเค เอสเทต จำกัดและ บ.เอซี ออฟฟิสปาร์ค จำกัด ให้กับวินมาร์ครวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,527 ล้านบาท โดยเงินทั้งหมดมาจากบัญชีเงินฝากในสิงคโปร์ และส่วนหนึ่งมาจาก 3 บัญชีของวินมาร์คซึ่งเป็นบัญชีที่ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานเป็นผู้รับประโยชน์รวม 1,219 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งมาจากบัญชีของทั้งสองคนจำนวน 308 ล้านบาท

จากนั้นก็มีการเล่นแร่แปรธาตุเมื่อวันที่ 1 ส.ค.43 วินมาร์คเปลี่ยนผู้ถือหุ้นเดิมเป็น “บลูไดมอนด์” ซึ่งบลูไดมอนด์เป็นส่วนหนี่งของ “ซิเนตร้าทรัสต์” ที่ถือหุ้นในบลูไดมอนด์ 100%

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ซิเนตร้าทรัสต์นั้น มีนช.ทักษิณ คุณหญิงพจมานและครอบครัวเป็นเจ้าของผู้รับประโยชน์

ถัดมาอีก 3 ปี คือวันที่ 11 ส.ค.46 วินมาร์คได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้น 14 ล้านหุ้นกับ VIF ส่งผลทำให้วินมาร์คกลายเป็นเจ้าของ VIF ในทันที โดยการชำระค่าหุ้นดังกล่าว วินมาร์คได้โอนหุ้น บ.โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บ. เอสซี แอสเซทฯ”) ที่ถือครองทั้งหมดให้ VIF และจากนั้นไม่นานนักคือวันที่ 1 ก.ย.46 VIF ได้โอนหุ้นเอสซีแอสเซทฯให้กับ “โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์(OGF)” และ “ออฟชอร์ไดนามิกฟันด์(ODF)” แต่ VIF ก็ยังคงเป็นเจ้าของเอสซี แอสเซทฯ เพราะเป็นผู้ถือครองหุ้น 100% ใน OGF และ ODF

ต่อมาเอสซี แอสเซทฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 13 พ.ย.46 ซึ่ง OGF และ ODFได้ถือหุ้นเอสซี แอสเซทฯ มาตลอด กระทั่งในเดือนเม.ย.-ส.ค.49 จึงได้ทยอยขายออกไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนหมด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทั้งวินมาร์ค VIF, OGF และ ODF คือนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน และทั้ง 2 คนมีอำนาจสั่งการและเป็นผู้รับประโยชน์ โดยเฉพาะการที่วินมาร์คเข้าไปถือหุ้นชินคอร์ปฯ จำนวน 53,642,130 หุ้นขณะที่ นช.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินที่ซื้อขายหุ้นก็วนกลับไปเข้าบัญชีของ นช.ทักษิณทั้งสิ้น

ความผิดของนช.ทักษิณในกรณีนี้คือ ไม่แสดงการถือครองหุ้นดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน หรือสรุปง่ายๆ ก็คือซุกหุ้นการถือครองชินคอร์ปผ่านทางวินมาร์ค ซึ่งการที่ชินคอร์ป ฯ ทำธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารอันรับสัมปทานจากรัฐ จึงเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ด้วยเหตุดังกล่าว ทรัพย์ที่นช.ทักษิณได้รับจากชินคอร์ปฯ จึงเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วย

อย่างไรก็ตาม นช.ทักษิณดิ้นสุดตัวเพื่อแก้ข้อกล่าวหานี้ โดยในคำแถลงปิดคดีของคุณหญิงพจมานที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ได้มีการนำเอกสารเพื่อแสดงให้เห็นว่า นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานไม่ได้เป็นเจ้าของวินมาร์ค แต่เจ้าของที่แท้จริงก็คือ “นายมาห์มูด โมฮัมหมัด อัล อันซารี” พร้อมทั้งนำคำรับรองจากศาลดูไบมายืนยันว่า นายมาห์มูดเป็นเจ้าของวินมาร์คแท้จริงเพียงผู้เดียวและได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทของครอบครัวชินวัตรที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จาก นช.ทักษิณในปี 43 พร้อมทั้งได้รับการโอนหุ้นมาจากธนาคารยูบีเอส เอจี สาขาสิงคโปร์ในปี 44

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมคุณหญิงพจมานถึงเพิ่งเปิดตัวนายมาห์มูดออกมาในช่วงนี้ ทำไมคุณหญิงพจมานถึงไม่นำนายมาห์มูดตัวเป็นๆ มาเป็นพยานในศาล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเขาคือพยานสำคัญที่อาจจะทำให้พ้นผิดจากคดีได้

ส่วนกรณี แอมเพิลริชฯ นั้น ก็เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกับวินมาร์ค โดย นช.ทักษิณได้จัดตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นที่บริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ และต้องการใช้แอมเพิลริชในการทำนิติกรรมอำพรางเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.42 นช.ทักษิณได้นำหุ้นชินคอร์ปที่ตนเองถืออยู่จำนวน 329,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 11.875% โอนให้กับแอมเพิลริชเพื่อนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แนสแดค (NASDAQ)

จากนั้น นช.ทักษิณอ้างว่า ได้ขายหุ้นแอมเพิลริชฯ ให้กับนายพานทองแท้ทั้งหมดในราคา 1 เหรียญตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.43 ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่ได้มีการรายงานตลาดหลักทรัพย์ได้รับทราบ กระทั่งนายพานทองแท้ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากได้รับโอนแล้วถึง 6 ปี โดยไม่มีหลักฐานอื่นใด รวมทั้งไม่มีการบันทึกการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือจดแจ้งกับผู้ใดหรือหน่วยงานใด

ขณะเดียวกันการชำระเงินค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน การซื้อโอนหุ้น ต่างก็เป็นเงินที่จ่ายจากบัญชีคุณหญิงพจมานทั้งสิ้น และหลังจากนั้นเงินจำนวนดังกล่าวก็โอนกลับเข้ามาบัญชีคุณหญิงพจมานเหมือนเดิม

หลักฐานที่มัดนช.ทักษิณเอาไว้อยู่หมัดก็คือ ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลหุ้นดังกล่าวได้ยื่นรายงานตามแบบ 246-2 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.44 ต่อ ก.ล.ต.เนื่องจากได้รับโอนหุ้นจากชินคอร์ป คิดเป็นร้อยละ 3.40 จำนวน10 ล้านหุ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค.มาไว้ในบัญชี ซึ่งเมื่อนับรวมกับหุ้นชินคอร์ป ที่อยู่ในบัญชีนี้อยู่ก่อนแล้ว จำนวน 5,405,913 หุ้น ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ทำให้ต้องรายงานก.ล.ต.ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งนั่นแสดงว่า ในเดือนส.ค.44 นช.ทักษิณก็ยังคงเป็นเจ้าของแอมเพิลริชฯอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าได้โอนขายให้กับนายพานทองแท้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.43 จึงฟังไม่ขึ้น

ความจริงก็คือ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในชินคอร์ปเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ นช.ทักษิณก็แก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ เช่นกัน กล่าวคือในคำแถลงปิดคดี สิ่งที่ นช.ทักษิณและครอบครัว ทำได้ดีที่สุดคือ เพียงบอกว่า ยูบีเอสฯ “อาจ” เข้าใจผิด จึงรายงานโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ขาดน้ำหนักในการโต้แย้ง โดยสิ้นเชิง

จากนั้นในวันที่ 23 ม.ค. 2549 นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานก็ได้รวบรวมหุ้นทั้งหมดขายให้กับ “กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์” โดยมี บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดและบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งจำกัด เป็นผู้ซื้อ รวมเป็นเงินทั้งหมด 76,621,603,061.05 บาท

และนั่นคือความผิดในข้อหาซุกหุ้นที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดของ นช.ทักษิณ เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

โคตรโกง 3
โกงทั้งโคตรเอื้อประโยชน์ชิน-บ.ในเครือ


นอกจากเรื่องการซุกหุ้นแล้ว ความผิดประการถัดมาของ นช.ทักษิณก็คือ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่สั่งการ มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐกระทำการที่เอื้อประโยชน์แก่ชินคอร์ปและบริษัทในเครืออีก 6 กระทงความผิดด้วยกันคือ

หนึ่ง-การแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต

กรณีนี้ นช.ทักษิณได้สั่งการและมอบนโยบายในการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 2527 และ 2546 โดยส่งผลทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมด้วยการให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของตนเองและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20-50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้

พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรี ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดเจน

สอง-การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม

กรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกมาก เพราะเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของคนต่างด้าว จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 ก่อนที่จะมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับ “เทมาเส็ก” หลังประกาศกฎหมายเพียงวันเดียว

สาม-การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ความผิดข้อนี้คือการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (PREPAID CARD) ให้กับบ.เอไอเอส ซึ่งทำให้เอไอเอสมีความได้เปรียบคู่แข่งในทางธุรกิจ และที่สำคัญคือประโยชน์ที่เอไอเอสได้รับจากครั้งนี้คิดเป็นเม็ดเงินที่มีมูลค่าสูงถึง 70,872 ล้านบาท ขณะที่ ทศท.ต้องสูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับก้อนนี้ไป

สี่-การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมหรือโรมมิ่ง

ความผิดในข้อนี้ก็ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ชินคอร์ป และเอไอเอส เช่นกัน กล่าวคือการที่ทศท.ได้ทำสัญญาอนุญาตให้เอไอเอสใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับนั้น เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย และเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535

นอกจากนั้น การที่ กสทได้ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN 1800 ทำให้ ทศท.และกสท.ต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท ตลอดอายุสัมปทาน ขณะที่เอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากเงินก้อนนี้ไปแทน

ห้า-การอนุมัติและส่งเสริมการลงทุนดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ

กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการดาวเทียม IPSTAR โดยได้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปที่ต้องถือในบ.ชิน แซทเทิลไลท์จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และกรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงิน 268 ล้านบาท ไปเช่าช่องสัญญาณของดาวเทียมต่างประเทศ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ชินคอร์ปและชิน แซทเทิลไลท์ โดยผลเสียหายที่เกิดขึ้นก็คือ

-ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรองให้ดาวเทียมไทยคม 3 มูลค่า 4,000 ล้านบาท และได้ประโยชน์จากการไม่ต้องดำเนินกระบวนการรับสัมปทานใหม่จากโครงการดาวเทียม IPSTAR มูลค่า 16,000 ล้านบาท

-ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาเพื่อรักษาสัดส่วนที่ชินคอร์ปจะต้องถือไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในชินแซทฯ โดยการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้คงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40

-ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องซ่อมแซมหรือจัดหาดาวเทียมมาแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่เสียหาย ซึ่งเมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้ว จะต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัญญาสัมปทาน แต่ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนที่กระทรวงได้รับจากบริษัทประกันภัยมาใช้ในการเช่าดาวเทียมต่างประเทศมาทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่เสียหายจำนวนเงิน 268 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกต้องตามสัญญาสัมปทาน

นี่คือการเล่นแร่แปรธาตุระดับพระกาฬทีเดียว

หก-การสั่งให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านให้พม่า

เรื่องนี้ ต้องถือว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการคอร์รัปชันทางนโยบายที่ นช.ทักษิณเข้ามาล้วงลูกโดยตรง เพราะเป็นการสั่งการและเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ ให้วงเงินกู้สินเชื่อวงเงิน 3,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลพม่า และต่อมาได้เพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาทสำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปีเป็น 5 ปี

ทั้งนี้ ความอุบาทว์ที่เกิดขึ้นคือ ส่วนหนึ่งของเงินกู้จำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐถูกนำมาใช้ในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์โทรคมนาคมจาก บ.ชินแซทเทิลไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ นช.ทักษิณเอง

การกระทำดังกล่าวทำให้เอ็กซิมแบงก์ได้รับความเสียหายและต้องให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

...ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า แม้ฝ่ายนช.ทักษิณและวงศ์วานว่านเครือ โดยเฉพาะอดีตภรรยาสุดที่รักและลูกชาย ลูกสาว จะทุ่มทั้งชีวิตและหัวใจให้ถ้อยแถลงช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่หากมองด้วยใจเป็นธรรมแล้ว แม้จะไม่มีใครทราบว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ทว่า เมื่อพิจารณาถึงประจักษ์พยานทั้งหลายทั้งปวงแล้ว เชื่อได้ว่า นช.ทักษิณคงหนีไม่พ้น เพราะความผิดของเขานั้นคือ การละเมิดหรือทรยศต่อความไว้วางใจของปวงชน (Treason) ดังเช่นที่อัยการสูงสุดระบุเอาไว้ในคำแถลงปิดคดี

กำลังโหลดความคิดเห็น