xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.แห้วต้องรับภาระVAT7%อีกปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กทพ.แห้ว ครม.เบรกพิจารณาVAT 7% ต้องแบกรับภาระต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เล็งเสนอครม.ชุดใหม่ ขอมีผลใช้ พ.ย.52 หลังติดตั้งระบบเก็บเงินอัตโนมัติเสร็จ เผยรับภาระ VAT มาแล้วเกือบหมื่นล้านบาท ขณะนี้ผลปรับค่าผ่านทาง 1 ก.ย.ทำจำนวนรถใช้ทางวูบ
นายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการพิจารณาวาระที่กระทรวงคมนาคมเสนอในการขอยกเลิกมติครม.ปี 2535 ที่ให้กทพ.รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เนื่องจากเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังมีปัญหา ทำให้กทพ.ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวที่ต้องแบกรับ VAT 7% แทนผู้ใช้ต่อไป แต่คาดว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอครม.อีกครั้ง โดยประมาณการว่า ในเดือนพ.ย.2552 กทพ.จะสามารถเก็บ VAT 7% รวมกับค่าผ่านทางได้ ซึ่งจะพร้อมกับการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแล้วเสร็จ
ปัจจุบันกทพ.ต้องแบกรับภาระ VAT 7% แทนผู้ใช้ทางประมาณวันละ 2 ล้านบาทหรือปีละ 730 ล้านบาท โดยแบกรับมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเงินประมาณ 9,025 ล้านบาท โดยค่า VAT 7% อยู่ที่ 3.15 บาท ซึ่งหากรวมกับค่าผ่านทางจะเท่ากับ 48 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ
นายเผชิญกล่าวว่า ในปี 2551 กทพ.มีกำไรสุทธิ 1,212 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 1,308 ล้านบาทประมาณ 96 ล้านบาท เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปริมาณจราจรที่ลดลง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เปิดใช้ฟรีวงแหวนด้านใต้และโครงการเกษียณก่อนอายุวงเงิน 61 ล้านบาท ส่วนประมาณการรายได้และผลประกอบการปี 2552 อยู่ระหว่างทบทวนตัวเลข โดยจะรอความชัดเจนการเร่งรัดการก่อสร้าง โครงการทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกและการก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางวงแหวนด้านใต้ ซึ่งจะทำให้กทพ.มีรายได้จากค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น
โดยในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ กทพ.จะประชุมร่วมกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อเจรจาเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จในเดือนก.พ.2552 เนื่องจากมติครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 ให้ขยายเวลาก่อสร้างอีก 180 วันเพื่อช่วยเหลือในเรื่องค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้โครงการล่าช้าไปจากกำหนดเดิมอีกประมาณ 6 เดือนหรือแล้วเสร็จในเดือน ก.ค 2552 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เจรจากับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางได้รับสิทธิ์การขยายเวลาก่อสร้างตามมติครม.เช่นกันให้เร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จภายในเดือนก.พ.แล้ว ซึ่งคาดกทพ.จะมีรายได้จากค่าผ่านทางวงแหวนด้านใต้ประมาณ 8 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกรมทางหลวงซึ่งจะแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างกทพ.กับกรมทางหลวง 80-20
ส่วนการปรับขึ้นค่าผ่านทางเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ส่งผลทำให้ปริมาณจราจรรวมระหว่าง ก.ย.-2 ธ.ค. ลดลงเหลือ 1.090 ล้านคันต่อวันจากเดิมมีปริมาณจราจรประมาณ 1.12 ล้านคันต่อวัน โดยแยกเป็นทางด่วนขั้นที่ 1 ปริมาณจราจรลดลง 3.9% ทางด่วนขั้น 2 ลดลง 2.77% ส่วนทางด่วนบูรพาวิถีเพิ่มขึ้น 8.18%
กำลังโหลดความคิดเห็น