หมู่คำในจำพวก “แพทย์แผนไทย”, “ยาหม้อ” , “ใบลาน”, “ตำรายาโบราณ” คนส่วนใหญ่คงหลับตาเห็นรากไม้สมุนไพรหงิกงอ ยาเดือดจัดส่งควันกลิ่นเขียวฉุนในหม้อดิน หรือลูกประคบที่โชยกลิ่นไพลกรุ่น ซึ่งในบริบทของความทันสมัยและในมายาคติแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของแพทย์แผนปัจจุบัน คนส่วนใหญ่คงมองภาพเหล่านี้บนความรู้สึกเชย โบราณ และที่มากกว่านั้นคือความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษาและลังเลใจที่จะนำมาใช้จริง
“ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่สืบทอดกันมาแต่รุ่นบรรพบุรษของเราถูกลบลืมจนกระทั่งเลือนหายไปมากแล้วในปัจจุบันนี้”
ประโยคนี้เป็นการประสานเสียงจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญผู้ทำงานด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจำนวนหนึ่ง โดยการจุดประกายของขุนพลหญิงยาสมุนไพรแห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ภายใต้โครงการน่าสนใจและเป็นประโยชน์ยิ่งด้วยแนวคิดการอนุรักษ์ตำรับยาตำราไทยและนำกลับมาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยทั่วไป
เภสัชกรหญิงผู้มากความสามารถรายนี้ให้ภาพการมาสู่ของตำรับตำรายาไทยต่างๆ ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่า ในพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มีตำรายาโบราณของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) และตำรายาของแพทย์โบราณอีกหลายท่าน ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ฯ มีตำรายาทั้งหมด 233 เล่ม
“เหล่านี้นับเป็นเอกสารข้อมูลวิชาการที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าให้คนรุ่นหลังได้วิจัยที่มีการรวบรวมไว้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ เราจึงจัดเสวนาตำรายาโบราณในครั้งนี้ขึ้น โดยหวังว่าตำรายาจะไม่เป็นแค่ใบลาน สมุดข่อย หรือกระดาษที่รอวันผุพัง แต่จะเป็นองค์ความรู้ด้านสุขภาพอันทรงคุณค่าที่จะนำเอาไปใช้จริงได้ ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บุคคลในแวดวงของแพทย์แผนไทยต่างก็มากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทางอภัยภูเบศรเองก็จะดำเนินการไปเท่าที่จะทำได้ อะไรทำได้เราจะทำก่อน ซึ่งจะไปพร้อมๆ กับการทำงานประสานกับหน่วยงานอื่น จุดประสงค์หลักคือเพื่อให้องค์ความรู้เก่าแก่ได้ส่งสู่ประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด” ภญ.สุภาภรณ์กล่าว
ด้านดร.สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์ จากหน่วยปฎิบัติการเคมีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ภาพเบื้องต้นความหลากหลายของตำรายาโบราณของพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรว่า มีทั้งแบบสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ แบบสมบูรณ์มีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะชำรุดเสียหาย ฉีกขาด มีเชื้อรา จึงจำต้องซ่อมแซมเพื่อยืดอายุของเอกสารให้อยู่ได้นานที่สุด
“ตำราโบราณที่พบมีจารไว้หลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นตำราเวชศาสตร์ คัมภีร์แพทย์ต่างๆ เช่นคัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์พรหมปุโรหิต คัมภีร์ธาตุวิภังค์ คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์วรโยคสาร โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ สัตวศาสตร์ ตำราภาพ ตำราเบ็ดเตล็ด วรรณคดี จดหมายเหตุ ธรรมคดี และด้านอักษรศาสตร์”
ในขณะที่ผศ.ดร.จักร แสงมา หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญของคณะทำงานชุดนี้จากหน่วยปฎิบัติการเคมีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึงขั้นตอนการซ่อมแซมดูแลรักษาว่า ตำรายาที่ได้มาส่วนใหญ่ถูกจารึกบนวัสดุไม่คงทน ซึ่งจนนอกจากจะต้องนำมาทำความสะอาดและซ่อมแซมซึ่งจะเป็นไปตามสภาพที่แตกต่างกันของใบลานแต่ละผูกตามความเหมาะสมแล้ว ยังต้องทำการปริวรรตคัดลอกเผื่อตำราโบราณเหล่านั้นผุพังไปในกาลข้างหน้าอีกด้วย
“ซึ่งนอกจากเราจะปริวรรตจากแบบเดิมที่จารไว้ในตำราโบราณแบบทุกตัวอักษรแล้ว ที่เรากำลังจะทำกันต่อไปคือ ถอดคำจากภาษาโบราณเป็นภาษาที่เข้าใจได้ทั่วไปและลงในเวบไซต์ มีคนถามเราเหมือนกันว่าถ้าทำแบบนี้แล้วไม่กลัวเรื่องลิขสิทธิ์หรือ อันนี้ที่เราเผยแพร่ เพราะคิดว่าดีกว่าที่จะให้มันนอนอยู่เฉยๆ ในผูกแล้วรอเวลาผุพังไป คือถ้าจะเอาไปทำไปศึกษา เราคุยกันแล้วว่าน่าจะดีกว่า เพราะการนำไปใช้ ไปศึกษา จะทำให้มันมีชีวิต”
ด้านอ.เกริก อัครชิโนเรศ จากคณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของโปรเจคสำคัญ “การเก็บข้อมูลพับสาเพื่อจัดทำ E-Book ล้านนา ให้ภาพที่น่าเป็นห่วงว่า ในขณะนี้ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีชายชาวญี่ปุ่นที่ชาวบ้านในพื้นที่บอกเล่นว่าเป็นผู้ที่มีรายชื่อในบัญชีแบล็คลิสต์ห้ามเข้าประเทศไทย แต่ก็ยังคงลักลอบเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่บ่อยครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลตำรายาโบราณ ขุดหาสมุนไพรในท้องถิ่น และขณะนี้ประกาศขอซื้อผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่เพื่อส่งกลับไปญี่ปุ่น
“อันนี้เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่บอกให้ผมฟังนะครับ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงผมว่าเราต้องรีบแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาโบราณของเขามาก ที่ขายดีที่สุดของเขาคือยาลูกกลอน หน้าตาไม่ต่างจากของบ้านเราเลย เขานิยมซื้อมาก รัฐบาลส่งเสริมกันเป็นเรื่องเป็นราว เราต้องรีบนะครับ เรามีเยอะ แต่มันกำลังจะสูญหายไปแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ถูกยักย้ายถ่ายเท ทางที่ดีที่สุด ทำให้เราได้ใช้กันเป็นของปกติในชีวิตประจำวัน ให้สิ่งที่ถูกลืมไปแล้วฟื้นขึ้นมามีชีวิตใหม่ ให้องค์ความรู้มีการเคลื่อนไหว โดยส่วนของการศึกษาในภาคของนักวิจัย เราก็จะพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อส่งต่อความรู้โบราณสู่คนรุ่นใหม่ครับ” อ.เกริกทิ้งท้าย