ไทยตีคู่กัมพูชาซิวเก้าอี้กรรมการมรดกโลก “โสมสุดา” ผู้แทนไทยมีคะแนนมาที่ 3 แพ้ “กัมพูชา” 1 แต้ม “ธีระ” เชื่อ 2 ประเทศกอดคอได้เก้าอี้จะทำให้เกิดสันติภาพเหตุพระวิหารได้ พร้อมดัน 11 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม - ธรรมชาติ ขึ้นบัญชีมรดกโลกให้ได้ใน 4 ปี เสนอตัวเป็นเจ้าภาพต่อบราซิล ปี 54 ขณะที่ผู้แทนไทยลั่นทำงานเป็นกลางป้องผลประโยชน์ชาติ
วันนี้(27 ต.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น.ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงผลการเลือกตั้งคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee – WHC) ที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 35 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ตนได้รับรายงานผลการเลือกตั้งคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อดำรงตำแหน่งในวาระปี 2552 - 2556 แทนกรรมการที่หมดวาระ 12 ประเทศ โดยผู้แทนประเทศไทย นางโสมสุดา ลียะวณิช รองปลัด วธ. ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 คณะกรรมการ ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยคนที่ 2 ต่อจากนายอดุล วิเชียรเจริญ ที่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว 2 สมัย ระหว่างปี 2532 - 2538 และปี 2540 – 2546 อีกด้วย
นายธีระ กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีประเทศสมาชิกภาคี 29 ประเทศส่งผู้แทนเข้าคัดเลือก โดย ประเทศที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 104 คะแนน กัมพูชา 83 คะแนน ไทย 82 คะแนน แอฟริกาใต้ 78 คะแนน ฝรั่งเศส 73 คะแนน เอธิโอเปีย 69 คะแนน เม็กซิโก 56 คะแนน เอสโตเนีย 55 คะแนน อิรัก 52 คะแนน และมาลี 46 คะแนน กลุ่มประเทศที่ไม่มีมรดกโลก ได้แก่ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก คือ ประเทศรัสเซีย
“จากนี้ไปไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ที่สำคัญจะช่วยผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) ของยูเนสโกแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานีและเส้นทางเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม ปราสาทหินพิมาย กับศาสนสถานที่เกี่ยวข้อปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และกลุ่มปราสาทตาเมือน” นายธีระ กล่าว
รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้เชื่อว่าในเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง นางโสมสุดาจะมีส่วนช่วยให้มรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังเตรียมเสนอเข้าสู่ Tentative list ได้แก่ 1.เส้นทางวัฒนธรรมศรีวิชัยไชยา - นครศรีธรรมราช – สทิงพระ – ยะรัง และ เคดาห์ ประเทศมาเลเซีย 2. แหล่งวัฒนธรรมล้านนา 3. แหล่งโบราณคดีเมืองเก่าเชียงแสนและสุวรรณโคมคำ จ.เชียงราย และเมืองบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 4. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา 5. กลุ่มสถาปัตยกรรมของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ 6. พระบรมธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช 7. องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน จ.เพรชบุรี และพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ใน จ.ระนอง พังงา ตรัง ภูเก็ต และกระบี่ ได้สำเร็จด้วย
“ความสำเร็จของครั้งนี้ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ช่วยกันหาเสียง โดยเฉพาะนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กระทรวงต่างประเทศ (กต.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่หนักใจของประเทศสมาชิกภาคีอย่างมาก เนื่องจากไทย-กัมพูชาได้เกิดปัญหาข้อพิพาทกรณีพื้นที่ปราสาทพระวิหารอยู่ ดังนั้นประเทศสมาชิกภาคี จึงตัดสินใจเลือกผู้แทนจากทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายและเชื่อว่าจะทำให้เกิดสันติภาพโดยใช้วิชาการในการเชื่อมความสัมพันธ์ เพราะผู้แทนของประเทศกัมพูชาที่ได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการมรดกโลกนั้นเป็นลูกชายของนายฮอร์ นัมฮอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา” นายธีระ กล่าว
นายธีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่าในเดือนมีนาคม 2553 คณะกรรมการมรดกโลกชุดใหม่จะเดินทางมาประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศไทย และจะลงพื้นที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของไทยที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รวมทั้งอาจจะลงพื้นที่ปราสาทพระวิหารด้วย อย่างไรก็ตามไทยจะเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2554 ต่อจากประเทศบราซิล ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในปี 2553
ด้านนางโสมสุดา กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับโอกาสในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยสนับสนุน ทั้งนี้การดำรงตำแหน่งคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้จะทำหน้าที่ให้เป็นกลางและมองผลประโยชน์โดยรวมของทุกประเทศ ซึ่งตนเห็นว่ามีหลายประเทศที่ยังไม่มีแหล่งมรดกโลก และต้องการให้สนับสนุนในส่วนนี้ ที่สำคัญตนจะใช้โอกาสนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ และความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมด้วย ส่วนการผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยก็จะดำเนินการตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามเดินทางเดินกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 30 ตุลาคมนี้