xs
xsm
sm
md
lg

วธ.ชู "สามชุก" ต้นแบบวัฒนธรรมชุมชนเข้มแข็ง - ผุดลานบุญ ลานปัญญาทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วธ.ชู “สามชุก”เป็นชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ชี้สร้างเศรษฐกิจ คงภูมิปัญญา ดึงวิถีดั้งเดิมท้องถิ่นกลับมาได้จนรับรางวัลจากยูเนสโก พร้อมเปิดลานบุญลานปัญญา 600 แห่งทั่วประเทศ หวังสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมท้องถิ่น

นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า จากการการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.) สัญจร ที่ จ. สุพรรณบุรี เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเรื่อง การพัฒนาประเทศโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง โดยมีการเชื่อมโยงกับชุมชนสามชุก จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ซึ่งตนคิดว่าแนวทางการทำงานของ กวช. ได้ดำเนินกการเรื่องนี้มานาน เพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานเป็นรูปธรรมชัดเจน ที่พยายามจะสร้างเครือข่ายสภาวัฒนธรรมตำบล หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ วธ.มีเครือข่ายสภาวัฒนธรรมตำบลแล้ว เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศ และโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนทุกอำเภอ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนอยากทำตามแบบชุมชนสามชุก เพราะภาพของชุมชนสามชุกเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ โดยจะต้องชี้ให้ชุมชนเห็นว่า องค์กรที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ควรจะมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่น ให้เกิดเป็นโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนในพื้นที่ต่างๆ

นายธีระ กล่าวต่อว่า วัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม การบริการทางวัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้วิถีท้องถิ่นยังคงอยู่ นอกจากนี้ โครงการที่ วธ. ได้ดำเนินการขณะนี้ คือ โครงการลานบุญลานปัญญา เป็นโครงการที่สามารถดึงความเป็นศูนย์กลางไปที่ศาสนสถาน เหมือนอดีต ที่เรามีโบสถ์ วัด มัสยิด ของศาสนาต่างๆ เป็นศูนย์กลางของคนทุกวัย ซึ่งสถานที่นั้น จะเป็นเวทีประชาคม เป็นพื้นที่ให้ความรู้เรื่องคุณธรรม ภูมิปัญญาความรู้ ให้ประชาชนสามารถพูดคุยกันและดึงความเป็นวิถีดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่นกลับมาได้

“ในปี 2553 เราตั้งเป้าหมายว่าจะมีพื้นที่ที่เปิดลานบุญลานปัญญาตามศาสนาสถานของทุกศาสนามากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีประชาคมของสภาวัฒนธรรมตำบล หมู่บ้าน และโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ลานบุญลานปัญญา ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้ และทำให้คนในท้องถิ่นเป็นหลักในการร่วมคิด ร่วมทำ ตรวจสอบ และประเมินผล โดยมี องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยง และให้ภาคเอกชนเป็นตัวเสริม นอกจากนี้ เราควรจะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้สูงอายุมาบูรณาการร่วมกัน ถ้าเราได้จุดประกายแนวคิดตรงนี้ และชุมชนเดินตามก็จะประสบผลสำเร็จ” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น