xs
xsm
sm
md
lg

PTSD บาดแผลอันเจ็บปวดจาก “สึนามิ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุงถวิลขณะเล่าถึงความสูญเสีย
ย้อนกลับไปเมื่อปลายธันวาคม พ.ศ.2547 หลังจากปาร์ตี้คริสมาสต์ในค่ำคืนที่ 25 ผ่านไป เช้าตรู่ของวันที่ 26 หลายคนตื่นมาสูดอากาศยามเช้าอย่างสดชื่นริมฝั่งทะเลอันดามันโดยไม่รู้เลยว่า อีกไม่กี่นาทีนับจากนั้น เกลียวคลื่นขนาดมหึมาจะโหมกระแทกพื้นที่บนฝั่งอย่างยับเยิน ก่อนจะดูดกลืนทุกสิ่งที่อยู่ชายฝั่งดำดิ่งสู่ความมืดมิดของท้องทะเลจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเกินคณานับ และแม้จะผ่านไป 5 ปีแล้ว คลื่นเหล่านั้นก็ได้สร้างรอยแผลไว้ในชีวิตและหัวใจของผู้สูญเสีย
 
และหนึ่งในความเจ็บปวดคือโรคที่เรียกว่า “PTSD”...

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาการทางจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สำนักบริหารองค์ความรู้ (TCELS) ในการลงไปในพื้นที่ 6 จังหวัดของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ เพื่อทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตและพันธุกรรมของผู้ที่รอดชีวิตจากสึนามิเมื่อ ให้รายละเอียดของโรค Post - Traumatic stress Disorder หรือ PTSD ว่า คืออาการเครียดรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการสะเทือนใจมากๆ อาทิ ภายหลังการถูกข่มขืน หรือประสบอุบัติเหตุรุนแรง เช่น กรณีรถแก๊สระเบิด เป็นต้น

ศ.พญ.นันทิกา อธิบายว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการทางจิตที่ต่างกัน หลายคนจะเกิดอาการเก็บตัว เครียดง่าย มือสั่น ใจสั่น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นให้คิดถึง มีอาการหลอนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หูแว่ว ฝันร้าย นอนไม่หลับ กลไกการแก้ปัญหาผิดปกติ ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่ปลดปล่อยตัวเองจากความคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หวั่นไหวง่าย แยกตัวจากสังคม และส่วนใหญ่มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวลร่วมด้วย
ศ.พญ.นันทิกาขณะทำจิตบำบัดให้คำปรึกษา
“แน่นอนว่า ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รอดชีวิตจากสึนามิมาได้ และผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์นี้จะเกิดความกระทบกระเทือนจิตใจที่รุนแรงมาก ประกอบกับมีข้อมูลการวิจัยสนับสนุนทฤษฎีที่โรคทางจิตเวชส่วนใหญ่มีการติดต่อกันทางพันธุกรรมได้ เราจึงลงไปเก็บข้อมูลตั้งแต่หลังเกิดเหตุสึนามิใหม่ๆ จนปัจจุบัน เพื่อตรวจหาผู้ที่มีอาการ PTSD สัมภาษณ์ สอบถาม และตรวจวินิจฉัย และแม้ว่าจุดมุ่งหมายเราคือการทำฐานข้อมูล แต่เมื่อเราพบผู้ป่วยที่เป็น PTSD เราก็จะจ่ายยา ช่วยรักษา ทำจิตบำบัด ให้คำปรึกษา และเราก็ลงมาติดตามผลการรักษากันทุกปี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์รายนี้ให้ข้อมูลต่อไปว่า ระดับของผู้ป่วย PTSD มีทั้งแบบเฉียบพลันคือมีอาการหลังเกิดเหตุประมาณ 3 เดือน แบบเรื้อรังจะมีอาการราวๆ 6 เดือน และบางส่วนจะเป็นไปตลอดชีวิต มักพบในเพศหญิงมากกว่าชาย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ผู้ที่มีมีบาดแผลทางจิตใจหรือเคยป่วยด้วยโรคจิตเวชมาก่อน โดยเฉพาะป่วยก่อนอายุ 12 ปี มีแนวโน้มที่จะป่วยสูงกว่าคนปกติ แนวทางการรักษามีทั้งแบบให้ยาและทำจิตบำบัด ให้คำปรึกษา โดยยาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มยาต้านเศร้า และหากผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยจะก็จะจ่ายยาที่ช่วยทำให้หลับง่ายขึ้น
ลุงถวิลเหม่อมองทะเลที่พรากครอบครัวไปจากเขา
ศ.พญ.นันทิกา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยจากเหตุสึนามินั้น ได้เก็บข้อมูลเฟสแรกในระหว่างเดือ นก.พ.-มี.ค.2548 จากกลุ่มตัวอย่าง 3,133 คนพบว่า 33.60% ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งถือว่าสูงมาก และมี 14.27% ที่ทุกข์ทรมานด้วยอาการซึมเศร้า ส่วนอีก 11.27% ป่วยทั้งโรค PTSDและมีอาการซึมเศร้าด้วย

“ส่วนในเฟสที่ 2 เราเริ่มตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค.48 เราพยายาม Follow กลุ่มตัวอย่างเดิม 3,133 คน เราได้มา 2,573 ราย และพบว่ามีผู้ที่เป็น PTSD เรื้อรัง 556 ราย คิดเป็น 21.6% โดยในจำนวนนี้มีประวัติเคยป่วยเป็น PTSD มาก่อน456 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.72 ซึ่งในเฟสนี้เราเก็บตัวอย่างเลือด บวกกับสัมภาษณ์เก็บข้อมูลผู้ป่วยและครอบครัวรวม 3 เจเนอเรชั่นเพื่อตรวจหาความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม ซึ่งหากพบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมอย่างชัดเจนในอนาคตก็จะช่วยด้านการรักษาในระดับยีนได้ดีขึ้น แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นการศึกษาวิจัยอยู่”

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาการทางจิตเวชศาสตร์ฯ จุฬาฯ ยังทิ้งท้ายด้วยการแนะนำครอบครัวของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ด้วยว่า ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ทำร้ายใคร ไม่เป็นอันตรายกับสังคม แต่จะเป็นอันตรายต่อตัวเอง เพราะหลายคนที่มีอาการอยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย ดังนั้นครอบครัวจึงควรใส่ใจและให้กำลังใจผู้ป่วยมากๆ
ป้ายุพากับน้ำตาแห่งความกลัว
ด้าน ลุงถวิล ด้วงใส ชายชราวัย 60 ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยอาการ PTSD หลังสูญเสีย ภรรยา ลูก ลูกสะใภ้ และหลานๆ 10 ชีวิตที่อาศัยอยู่ที่บ้านน้ำเค็มไปกับคลื่นร้ายในครั้งนั้น

“วันนั้นผมขับรถออกไปตัดผม ลูกสาวโทรมาจากบ้านบอก พ่อเอ๋ยไม่รู้คลื่นอะไร เกิดมาไม่เคยพบไม่เคยเห็น แล้วสายก็ขาดไป ผมกระโจนออกมาจากร้าน ตอนนั้นคลื่นมาแล้ว ผมเห็นคนเยอะมากที่วิ่งหนีขึ้นฝั่ง แต่ผมวิ่งสวนเข้าหาทะเล ห่วงลูกห่วงเมีย แต่ผมไปไม่ทัน ตอนนั้นไม่มีถนนแล้ว มีแต่น้ำ ผมน้ำพัดผมไปติดอยู่บนเสาโทรทัศน์ พอน้ำลดผมก็ปีนลงมา เดินหาลูกหาเมีย ตอนนั้นก็หวังนะ ว่าเขาจะหนีขึ้นเขาทัน แต่ปรากฎว่าตายหมดเลยทั้งบ้าน เหลือผมคนเดียว...นึกบ่อยๆ นะ ว่าทำไมไม่เอาพ่อไปด้วย ทำไมปล่อยให้พ่อเหลือตัวคนเดียว คิดถึงพวกเขามาก ตักข้าวเข้าปากก็คิดถึง กินไปร้องไห้ไป”
ศ.พญ.นันทิกา
ลุงถวิลกล่าวทั้งน้ำตาว่า ในระยะแรกหลังการสูญเสียบ่อยครั้งคิดฆ่าตัวตาย และต้องดื่มเหล้าเพื่อช่วยให้ลืมความเลวร้ายของเรื่องที่เกิดขึ้นและให้นอนหลับได้เป็นคืนๆ ไป แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือด้านการรักษาจากทีมจิตแพทย์ของ ศ.พญ.นันทิกา อาการก็ดีขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ปัจจุบันเลิกคิดฆ่าตัวตายแล้ว และมักจะเดินไปเยี่ยมป้ายชื่อของภรรยาและลูกที่จากไปที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ่อยๆ

ในขณะที่ ป้ายุพา ศรีศิริ วัย 60 ปี ที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตายจากสึนามิ แม้จะสูญเสียคนในครอบครัว แต่ก็ต้องสูญเสียอาชีพจากอาการ PTSD แม้จะรับการรักษาทั้งกินยาและจิตบำบัด อาการก็ยังเกิดขึ้นเมื่อพบสิ่งกระตุ้น

“ตอนเกิดสึนามิป้าอยู่หน้าบ้านเลย น้ำไม่รู้มาจากไหน เราก็วิ่งหนีขึ้นชั้นบน เราเห็นภาพคนลอยเต็มเลย น้ำมันซัดมาถึงบ้าน มีแต่คนชูแขนขอให้ช่วย อยากช่วยเขาแต่เราเองก็ยังไม่รอด ติดตามาก ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงภาพนั้น จากวันนั้นจนวันนี้ป้ายังไม่เคยเดินเฉียดชายหาด ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนมากนัก อาชีพนวดที่ริมทะเลก็เลยต้องเลิกทำไป รายได้หายไปเยอะ ให้ออกไปแถวทะเลอีกไม่เอาแล้ว นี่ก็ใกล้ 26 ธ.ค. เราก็เตรียมๆ กลัวมันจะเกิดขึ้นอีก” ป้ายุพากล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น